Exclusive Interview – Scar from Previous Times

Written by  
26.02.18 200 views

รอยแผลเป็นและความบอบช้ำจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 อย่างตึกร้างที่ไม่มีวันสร้างเสร็จรอบเมืองกรุง โดนยเฉพาะตึกร้างสาทรยูนีค หรือ Ghost Tower ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความผิดพลาดทางเศรษฐกิจในอดีต ไปจนถึงข่าวคราวการฆ่าตัวตายของผู้ล้มเหลวในชีวิตช่วงนั้น ได้กลายเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของ ‘เพื่อนที่ระลึก’ ผลงานการกำกับภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องล่าสุดของ จิม-โสภณ ศักดาพิศิษฏ์ ที่ทำให้มุมมองทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของเขา เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากทีเดียว


ไอเดียตั้งต้นของภาพยนตร์เพื่อนที่ระลึกเป็นยังไง

  “โปรเจ็กท์นี้เริ่มจากพี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) เปิดภาพตึกร้างสาทรยูนีกให้ดู และผมก็คิดว่าเป็นสถานที่ที่น่าสนใจมาก เพราะนอกจากดีไซน์ที่แปลกตาใช้สถาปัตยกรรมแบบโรมันแล้ว แต่ละชั้นยังมีทุ่งหญ้า แอ่งน้ำ กราฟฟิตี้ ต้นโพธิ์ และหลุมลึกกระจายอยู่ทั่วทั้งตึก พวกเราจึงตัดสินใจเอาตึกแห่งนี้มาผสมผสานกับเรื่องราวการฆ่าตัวตาย เพราะลองคิดดูสิว่าถ้านัดกันแล้วว่าจะฆ่าตัวตายพร้อมกัน แต่มีอยู่คนนึงดันรอดชีวิต และสุดท้ายคือวิกฤตต้มยำกุ้ง กลายมาเป็นบทภาพยนตร์ที่มีจิ๊กซอว์ทั้ง 3 เป็นส่วนประกอบหลักของโปรเจ็กท์เพื่อนที่ระลึก”

ได้สถานการณ์ฆ่าตัวตายพร้อมกันมาจากไหน

“เรื่องเล่าจากพันทิปครับ เพราะระหว่างการหาไอเดียเราก็อ่านและหาข้อมูลอยู่ตลอด ก่อนจะไปสะดุดกับเรื่องเล่าที่ว่ามีคนสองคนรู้สึกว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป ไม่ต้องการเผชิญหน้ากับปัญหาที่มีอยู่อีกแล้ว จึงตัดสินใจฆ่าตัวตายพร้อมกัน แต่ระหว่างนั้นเกิดมีคนหนึ่งกลัวตายเมื่อเห็นอีกคนตายก่อน ทำให้ตัวเองยังมีชีวิตต่อไป ผมรู้สึกว่าการเป็นคนที่รอดจากสถานการณ์แบบนั้นน่ากลัวมากจริงๆ ซึ่งไอเดียนี้เข้ากับยุควิกฤตต้มยำกุ้งได้ดีทีเดียว เพราะสมัยนั้นมีคนจำนวนไม่น้อยที่เปลี่ยนจากคนรวยมากๆ มาเป็นคนล้มละลาย ไม่ก็มีหนี้เป็นร้อยล้าน ทำให้มีคนเลือกการฆ่าตัวตายกันเยอะมาก”

เบื่อหรือเปล่าที่ต้องทำภาพยนตร์สยองขวัญอีกแล้ว

“ผมชัดเจนกับตัวเองอยู่แล้วในเรื่องนี้ ผมรู้สึกว่าตัวเองสนุกมากกับการทำหนังผี ถึงจะรู้สึกว่าการทำหนังแนวนี้บ่อยๆ ก็ยิ่งทำให้การเล่าเรื่องยากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ แต่ด้วยความสนุกก็เลยทำให้สุดท้ายรู้ตัวอีกทีก็กลับมาทำหนังผีอีกแล้ว (หัวเราะ)”

ทำไมยิ่งทำก็ยิ่งเล่าเรื่องยากขึ้น

“เวลาเราทำหนังใหม่ขึ้นมาหนึ่งเรื่อง เราไม่สามารถใช้รูปแบบเดิมๆ มุขเดิมๆ พล็อตเดิมๆ มาต่อยอดใหม่ได้ ผมไม่สามารถทำลัดดาแลนด์ 2 หรือชัตเตอร์ 2 ที่เล่นกับความกลัวรูปแบบเดิมๆ ได้อีกแล้ว เพราะแม้แต่ตัวเราเองยังเบื่อกับการทำงานซ้ำๆ เลย แล้วทำไมคนดูถึงจะไม่เบื่อกับอะไรแบบนี้ ดังนั้นทุกครั้งที่เริ่มต้นทำหนังเรื่องใหม่ ผมก็ต้องคิดใหม่ทำใหม่อยู่ตลอด เพื่อให้คนดูรู้สึกถึงความแปลกใหม่และแตกต่างให้ได้ นี่คือสิ่งที่ยากที่สุด เพราะคนดูหนังผีส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานดีอยู่แล้ว เขาจะรู้จังหวะและพอเดาได้ว่าผีจะออกมาตอนไหน ดังนั้นเราจึงต้องพยายามหลอกและพาเขาไปสู่บรรยากาศใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคยของหนังผีให้ได้”

จังหวะใหม่ของหนังผียังมีอยู่อีกเหรอ

“จริงๆ ก็ไม่มีอะไรที่ใหม่ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก ขึ้นอยู่กับว่าเราจะหยิบเอาสิ่งเก่าที่มีอยู่แล้ว มาผสมผสานให้เกิดความรู้สึกใหม่ขึ้นมาได้ยังไงมากกว่า ผมคิดว่าหนังผีก็เหมือนกับแฟชั่นนั่นแหละ ยุคหนึ่งคนอาจชอบหนังผีแบบหักมุม ชอบหนังผีแบบญี่ปุ่น แต่พอถึงจุดหนึ่งผมก็รู้สึกไม่อยากเห็นไม่อยากทำผีแบบนั้นแล้ว อย่างผมเองก็ลองจับความดราม่ามาใส่ในหนังผีอย่าง ลัดดาแลนด์ ซึ่งก็ให้ได้ความรู้สึกใหม่เกิดขึ้นกับหนังของเรา ทั้งที่ความดราม่าก็ไม่ใช้เรื่องใหม่ในหนังผีเลย”

ประเด็นสำคัญจากเพื่อนที่ระลึกคืออะไร

  “ประเด็นหลักที่ต้องการสื่อสารออกมาในหนังเรื่องนี้คือ ผลกระทบจากความผิดพลาดในอดีตครับ เพราะความผิดพลาดบางอย่างไม่สามารถลบออกไปได้ เหมือนกับตึกแห่งนี้ที่ยังคงหลงเหลือจากปี 2540 มาจนถึงปัจจุบัน ที่ยังคอยตอกย้ำถึงความผิดพลาดอยู่ตลอด ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้รู้ว่าถ้าวันนึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก เราควรจะแก้ไขหรือเดินหน้าต่อไปได้ยังไง เพราะผมเชื่อว่าคนเรามีสิทธิ์เจอปัญหาเดิมๆ ได้ตลอด”

การขอใช้ตึกสาทรยูนีคยากไหม

  “ตอนแรกผมรู้สึกว่ายากมาก เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครได้เข้าไปถ่ายทำอะไร และเจ้าของก็ค่อนข้างหวงตึกมาก อาจจะเพราะอันตรายหรืออะไรก็ตาม แต่พอเราติดต่อเข้าไปพูดคุยกับเจ้าของ เขาก็เซย์เยสทันทีเลย เพราะตัวเขาเองก็อยากให้ตึกนี้เป็นไอคอนของยุคสมัย 2540 และอยากให้คนได้รู้ว่าตึกหลังนี้ได้ผ่านอะไรและยุคสมัยแบบไหนมาบ้าง ซึ่งเขาก็เชื่อมือให้เราใช้ตึกของเขาในการเล่าเรื่อง”

ภาพยนตร์เรื่องนี้จะทำให้ภาพจำของตึกเปลี่ยนไปไหม

  “ความเป็น Ghost Tower น่าจะยังไม่เปลี่ยนไปจากเดิมหรอกครับ แต่ที่คิดว่าน่าจะเพิ่มเติมเข้ามาคือเรื่องราวของยุคสมัยและความยากลำบากในยุคนั้น รวมทั้งตึกแห่งนี้น่าจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่แค่ตึกผี ผมรู้สึกว่าถ้าดูจบแล้วความรู้สึกหรือมุมมองที่มีต่อตึกแห่งนี้ น่าจะเปลี่ยนจากเดิมไปบ้าง”

ประสบการณ์ส่วนตัวในวิกฤตต้มยำกุ้ง

  “ตอนนั้นไม่ได้กระทบกับชีวิตโดยตรงหรอกครับ เพราะผมก็เพิ่งจะอยู่ ม.ปลาย และคุณพ่อก็พยายามกันไม่ให้เข้ามารับรู้ปัญหามากนัก อีกอย่างคุณพ่อผมก็เป็นแค่พนักงานบริษัท ไม่ใช่เจ้าของกิจการ จึงไม่ได้รับผลกระทบอะไรเยอะ แต่ถึงอย่างนั้นก็รับรู้ถึงบรรยากาศความตรึงเครียดได้ เพราะเราแอบได้ยินคุณพ่อพูดบ่อยๆ ว่าบริษัทเริ่มไม่มีความมั่นคงแล้ว จากการเลย์ออฟพนักงาน ปิดแผนกบางแผนก นอกจากในบ้านแล้ว เวลาไปไหนมาไหนในช่วงนั้นก็จะเห็นคนเปิดข่าวเศรษฐกิจอยู่ตลอดเวลา แต่ด้วยความที่ยังเป็นวัยรุ่น ผมก็ยังใช้ชีวิตสนุกสนานตามเดิม ไปเดินเล่นมาบุญครอง ไปถ่ายรูปสติ๊กเกอร์ ไปเรียนตามปกติเหมือนเดิม ถือเป็นโชคดีของผมที่โตมาแบบไม่ต้องแบกรับอะไรมากนัก”

มรกดอะไรบ้างที่ได้รับมาจากวิกฤตต้มยำกุ้ง

  “มีสิ่งหนึ่งที่มองไม่เห็นแต่ก็รับรู้ได้จากวิฤตต้มยำกุ้งว่า คนไทยเป็นหนี้สาธารณะ เพราะยุคนั้นเป็นยุคที่มักมีคนออกมาพูดอยู่บ่อยๆ ว่าคนไทยมีหนี้สาธารณะคนละ 2 หมื่นบาท เราเลยตระหนักกันว่าคนไทยเป็นหนี้ ซึ่งเราไม่ต้องจ่ายโดยตรง จริงๆ พวกเราเป็นหนี้กันมาก่อนหน้านั้นแล้ว เพียงแต่เรามองกันไม่เห็นเอง จะว่าไปหนี้สาธารณะก็เหมือนกับผีเลยนะ ตอนที่ไม่เห็นทำยังไงก็ไม่เห็น แต่พอเห็นแล้วก็ไม่มีทางลืมเด็ดขาด ครั้งหนึ่งผมไปดูนิทรรศการวิกฤตต้มยำกุ้งที่มิวเซียมสยาม ที่นั่นมีข้อมูลที่น่าตกใจอยู่เยอะมาก อย่างเช่น ก่อนหน้านี้ก็ใช้ชีวิตปกติคิดว่าประเทศเราเจริญแล้วนะ แต่ในความเจริญนั้น เรากลับเป็นประเทศที่มีพัฒนาการน้อยกว่าเพื่อนบ้านอย่าง ฟิลิปปินส์ หรือ เวียดนาม เสียอีก สาเหตุก็มาจากผลกระทบจากความผิดพลาดที่ผ่านมา ซึ่งเราก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน”


การทำหนังเรื่องนี้ทำให้เห็นอะไรมากขึ้นหรือเปล่า

  “สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผ่านหูผ่านมามาเยอะแล้วครับ แต่ก็อย่างที่บอกว่าเหมือนกับผี พอเราไม่เห็นบ่อยๆ ก็มีแอบลืมไปบ้าง แต่ถ้าวันหนึ่งเราต้องมองกลับไป เราก็จะพบว่ามีสิ่งที่เป็นผลกระทบตามมาจากยุคนั้นเยอะมากอย่างคาดไม่ถึงเลย ยังมีตะกอนจากปี 2540 ให้เห็นอยู่ แต่ที่รู้สึกได้คือความคิดเราเปลี่ยนไป ไม่ได้มองว่าเศรษฐกิจหรือการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันเชื่อมต่อถึงกันหมดไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เราหลีกเลี่ยงไม่รับรู้ถึงสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ อีกทั้งยังต้องเพิ่มความใส่ใจมากขึ้นไปกว่าเดิมอีกด้วย”