คุณเลือกซื้อเสื้อผ้าด้วยเหตุผลอะไร เพราะนั่นเป็นเสื้อผ้าสำหรับผู้ชาย หรือเสื้อผ้าสำหรับผู้หญิง หรือแค่ความชอบ ใส่แล้วสวย มันถึงเวลาหรือยังที่แฟชั่นจะไม่จำกัดอยู่ที่เพศอีกต่อไปแล้ว

การซื้อเสื้อผ้าในสมัยก่อน เราคุ้นชินกับการเดินไปยังโซนหรือราวเสื้อผ้าตามเพศตัวเอง หรือแม้แต่การพลิกป้ายที่คอเสื้อหรือขอบกางเกงดูว่าเสื้อผ้าตัวนั้นเป็นของผู้หญิง หรือผู้ชาย แต่นั่นก็เต็มไปด้วยข้อจำกัด เพราะใช่ว่าทุกคนในโลกจะมีไซส์เหมือนกัน หรือความชอบรสนิยมที่ตรงกัน ผู้ชายตัวผอมสูงไม่มากนักสามารถใส่กางเกงยีนส์ของผู้หญิงได้ไหม ทำไมจะไม่ได้ล่ะ ผู้หญิงอยากจะใส่เสื้อเชิ้ตของผู้ชายบ้าง ก็ทำไมจะไม่ได้ล่ะ หรือแม้แต่ไม่เกี่ยวกับเรื่องไซส์ แค่อยากใส่ แค่รู้สึกว่ามันสวย โดยไม่ต้องคำนึงว่าเสื้อผ้าตัวนั้นจะของผู้หญิง หรือผู้ชาย จะได้ไหม...
ใน 10 ปีที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องเพศก้าวไกลไปมากกว่าที่คิด ไม่ใช่แค่หญิงชาย เกย์ เลสเบี้ยน แต่ยังมีคำนิยามใหม่เกิดขึ้นแยกตามแต่รสนิยมทางเพศไปจนถึงปัจจุบันที่ใครแคร์บ้างว่าจะมีชื่อเรียกตามรสนิยมทางเพศ เพราะสุดท้ายแล้วเพศคือความลื่นไหล ทำไมเราจะต้องกักขังตัวเองไว้ภายใต้ชื่อใดชื่อหนึ่ง ในเมื่อการแปะป้ายกลายเป็นปัญหาในทุกยุคทุกสมัย

แฟชั่นก็เช่นเดียวกัน แฟชั่นเล่นกับประเด็นเรื่องเพศเสมอมา จากเสื้อผ้าหญิง ชาย สู่รูปแบบของเสื้อผ้าที่เรียกว่า Unisex จนถึงล่าสุดกับการโอบอุ้มประเด็นทางสังคมนี้ไว้ด้วยรูปแบบเสื้อผ้าที่เรียกว่า Ungendered หรือ Genderless เพราะ #แฟชั่นไม่จำกัดเพศ
เรามักเห็นรันเวย์แบรนด์ต่างๆ เล่นกับประเด็นเรื่องเพศอยู่เสมอ ทั้ง Vivienne Westwood หรือ Thom Browne แต่นั่นคือบนรันเวย์ แล้วราวเสื้อผ้าที่วางขายจริงๆ ล่ะ มีแบรนด์ไหนให้ความสำคัญกับเรื่องเสือ้ผ้าที่ไร้เพศบ้าง ในปี 2015 แบรนด์ Selfridges ออกไลน์เสื้อผ้าที่ใช้ชื่อว่า Agendered เพื่อตอบสนองประเด็นเรื่องเสื้อผ้าไม่จำกัดเพศ ดูเผินๆ เหมือนเสื้อคู่ ที่สวมใส่ได้ไม่ว่าคุณเป็นเพศไหน ขอเพียงแค่ว่าคุณชื่นชอบในดีไซน์แบบนี้หรือเปล่า หรือ H&M กับไลน์เสื้อผ้าเดนิมที่เรียกว่า Denim United ที่ยังคงใช้คำว่า Unisex เพื่อความเข้าใจง่าย แต่เสื้อผ้านั้นเป็นแบบโอเวอร์ไซส์สวมใส่สบาย และใครๆ ก็ใส่ได้โดยไม่ต้องพลิกดูว่านี่คือเสื้อผ้าผู้ชาย หรือผู้หญิง

ในปี 2016 แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นสุดฮอตอย่าง Zara ก็ออกไลน์เสื้อผ้าชื่อ Ungendered กับเสื้อผ้าชิ้นเบสิคที่ดูเรียบง่าย ไม่มีเชฟหรือรูปทรงที่เจาะจงว่าเป็นเพศไหน ทั้งกางเกงยีนส์ เสื้อสเว็ตเชิ้ต ทีเชิ้ต แต่ก็ยังคงอยู่ภายใต้ความเบสิคที่ยังดูไม่เป็นแฟชั่นเท่าไหร่นั่นเอง นอกเหนือไปจากแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นเหล่านี้ ก็ยังมีอีกหลากหลายแบรนด์ทั่วโลก ที่นำเอาวิธีคิด #แฟชั่นไม่จำกัดเพศ มาสร้างสรรค์คอลเล็กชั่นเสื้อผ้า ทั้งแบรนด์ BiNO จากอังกฤษ Ataraxi หรือ TooGood ที่พยายามจะสร้างสรรค์เสื้อผ้าที่มีความเป็นแฟชั่นในรูปแบบ Ungendered ในแบบไม่เรียบง่ายเกินไป และไม่สุดโต่งเกินไป เพราะว่า #แฟชั่นไม่จำกัดเพศ

Union Mall x Hamburger Present
Ungendered : Fashion Stylist Award 2018
โครงการประกวดแฟชั่นสไตลิสต์ ภายใต้แนวความคิด “Ungendered Street Fashion” หรือ แฟชั่นไม่จำกัดเพศ เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊ก Hamburger Magazine