TV Addict – ใน-นอก, ออก-เข้า

Written by  
26.02.18 221 views

    สถานีโทรทัศน์ไทยช่วงสองสามเดือนนี้คึกคัก เรื่องหนึ่งคือมีอภิมหาเศรษฐีนายทุนหันมาลงทุนในช่องดิจิดตอล กับอีกเรื่องคือช่องดิจิตอลที่มีอยู่แล้ว มีการนำเสนอเพื่อขอคืนใบอนุญาตประกอบกิจการกลับไปให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติดังเดิม เข้าทำนองคนในอยากออกคนนอกอยากเข้า

  คนที่ขอคืนช่อง เขาคงได้รับประสบการณ์ด้านการโทรทัศน์แล้ว เขาจึงมีเหตุและเห็นข้อดีในการรามือ

  คนที่มาลงทุนรายใหม่ๆ นี่สิ เขามองเห็นอะไร? เขาอยากให้เงินที่ลงทุนอะไรไปนั้น นำพาสิ่งใดกลับมาสู่เขา? และที่ฉันสงสัยเป็นที่สุดคือ เขาชอบดูทีวีเหมือนพวกเราไหม? เขาจะชอบดูจนรู้ได้ไหมว่ารายการที่เราดูๆ กันอยู่มันซ้ำ หากเงินลงทุนเพิ่ม แล้วทำให้รายการซ้ำเพิ่มจำนวน ฉันออกจะเซ็งล่วงหน้าไว้เลย

  ซ้ำที่แปลว่า ทำอย่างเดียวกันหลายๆ ครั้งนั่นแหละ

  รายการร้องเพลงนั่นไง ซ้ำจนไม่รู้จะซ้ำอะไรได้อีก ร้องเพลงใส่หน้ากาก ร้องเพลงถอดหน้ากาก ร้องเพลงพร้อมร้องไห้ เพราะต้องใช้เรื่องราวชีวิตแสนเศร้ามาประกอบการร้องเพลง ประหนึ่งว่าทางรายการอยากให้ความเศร้าของพวกเขามาเป็นความเศร้าของพวกเรา แล้วมันจะเป็นได้ไหม ถามจริงๆ? 

แล้วก็ยังมี ร้องเพลงปะทะกัน ทั้งปะทะกันตัวต่อตัว และปะทะกันเป็นหมู่คณะ ร้องเพลงแบบคิดเอง ไทยคิดไทยทำ ร้องเพลงแบบซื้อลิขสิทธิ์มาเกาหลีอเมริกา ตบเท้าก้าวเข้ามาเต็มจอ ร้องเพลงเด็ก ร้องเพลงผู้ใหญ่ ร้องเพลงวัยรุ่น ร้องเพลงพร้อมเล่นดนตรีเป็นวง สรุปว่าร้องรำทำเพลงกันทั้งวี่ทั้งวัน ทุกวัน 

  เธอจำได้ไหม ในเรื่องรายการโทรทัศน์ พวกเราต่างมีประสบการณ์ไม่น่าพิสมัยกันมานักต่อนักแล้ว ฉันขอใช้รายการท่องเที่ยวเป็นตัวอย่าง 

  ตอนเรามีช่องรายการ 6 ช่อง เราก็มีรายการท่องเที่ยวและรายการชิมอาหารจำนวนหนึ่ง พอช่องรายการขยายกลายเป็นสิบๆ ช่อง รายการท่องเที่ยวและรายการชิมอาหารก็เพิ่มทวี ทุกช่องมีรายการแบบนี้ มันก็ไม่ดีน่ะสิ ไม่ดีตรงทุกคนทำเหมือนๆ กัน

  “เหมือนกัน” ของฉันคือ เขาจะมีพิธีกรและพาไปเที่ยว จำนวนพิธีกรก็แตกต่างกันตรงที่ พิธีกรคนเดียว พิธีกรคู่ ถ้าเป็นการท่องเที่ยวแบบตั้งใจจะให้วัยรุ่น ก็จะมีพิธีกรกลุ่ม แบบผู้ใหญ่หนึ่งคนเที่ยวกับวัยรุ่นสองคน แบบวัยรุ่นกลุ่มชายหญิง 6-8 คนท่องเที่ยวด้วยกัน อะไรทำนองนี้ 

  แต่จะสังเกตได้ว่า ถ้าพิธีกรเป็นผู้ใหญ่ไปเที่ยวคนเดียว ก็มักจะเป็นผู้มีความรู้ มีสาระประเด็นหยิบยกมาพูด เขาหรือเธอจะพูดคนเดียวได้เรื่อยๆ แต่พอเป็นพิธีกรหมู่คณะส่วนมาก จะสังเกตว่าพวกเขาเหล่านั้นก็เพิ่งเคยมาเที่ยวที่นั้นๆ เป็นครั้งแรกก็ตอนมาถ่ายรายการนี้นั้นแหละ เลยต้องอาศัยจำนวนพิธีกรให้มาก จำนวนเยอะหน่อย เพราะต้องมาร้องอู้หูอ้าหาเสียเป็นส่วยใหญ่ อะไรกันนั่น อะไรกันนี่ นี่คืออะไร นั่นคืออะไร สลับกันไปให้จบรายการในแต่ละตอน


  รายการชิมอาหารนี่ก็อีก ช่องต่างๆ ชอบทำ เขาคงคิดว่ามันง่าย เพราะเขาทำแค่ ส่งพิธีกรออกไปชิม 

  นี่ก็ไม่ต่างจากรายการท่องเที่ยว อู้หูอ้าหา อร่อยมาก อร่อยทุกสิ่ง พีธีกรพูดเหมือนๆ กัน

  ชิมก๋วยเตี่ยวต้มยำ ก็ต้องพูดว่า หอมมะนาวสด พริกคั่วเองเผ็ดกำลังดี

  ชิมข้าวขาหมูก็ต้องว่า หมูติดมันนิดๆ มีไข่ด้วย มีผักกาดดองด้วย  

รายการแบบไทยชิมไปเรื่อยๆ ทำเหมือนก่วยเตี๋ยวต้มยำบีบมะนาวหรือข้าวขาหมูติดมันกินกับผักกาดดองเป็นของแปลกงั้นแหละ

เธอจำได้ไหม ช่วงซ้อสมะขามฮิตๆ รายการไหนรายการนั้น เอะอะ กุ้งทอดซ้อสมะขาม ทุกร้านมีอาหารจานนี้ รายการชิมอาหารต่างๆ พาไปชิมอาหารจานนี้

พอชิบูย่าเฟร้นช์โทสต์ฮิต รายการไหนรายการนั้น ก็ต้องนำขนมปังก้อนโตมาโชว์ราดน้ำผึ้งและโปะไอติมก้อนใหญ่

ตอนฟอนดอนหรือเค้กลาวาดัง รายการต่างๆ ก็ต้องทำท่าตื่นเต้นตอนใช้ช้อนตัดเค้ก อู้หู ลาวาไหลมาเป็นซ้อสโกแลต อู้หูไหลมาเป็นซ้อสชาเขียว อู้หูไหลมาเป็นซ้อนชาไทย ไหลมาเหอะ ไหลมาให้ท่วมท้นล้นใจ ไม่มีอะไรต้องตื่นเต้นแล้วเหอะ!

รายการนานาชาติ เขาก็ชิมอาหารเหมือนเรา แต่ก็เขาอุตส่าห์คิดหาประเด็นให้เป็นจุดเด่นของรายการ

Secret Eats ตามหาอาหารนอกเมนูมาชิม 

  Unwrapped ตามดูกระบวนการผลิตขนมนมเนยตลอดจนอาหารต่างๆ ที่เราคุ้นเคยและเคยชิม

  Unique eats พาไปชิมอาหารที่แต่ละร้านคิดสร้างสรรค์ออกมาเองและไม่เหมือนใครที่ไหนในโลกนี้

  Guilty Pleasure ตามชิมขนมและอาหารพร้อมอธิบายว่ามันอร่อยที่ตรงไหนอย่างไรโดยละเอียด 

  Food Source ตามดูกระบวนการได้มาซึ่งเครื่องปรุงแต่ละอย่าง จะพืชผักผลไม้สัตว์บกสัตว์น้ำที่เรากินได้ เขานำเสนอทีละอย่างเป็นขั้นเป็นตอน


  เรื่องการอธิบายอาหาร เขาสรรหาคำมาอธิบาย เช่นจะพูดถึงแฮมเบอร์เกอร์เขาก็อธิบายละเอียด 

  “บาชิเบอร์เกอร์ เป็นอเมริกันบวกเอเชีย เนื้อเบอร์เกอร์จุ่มซ้อสเกาหลี แล้วเอาไปย่าง มายองเนสโคชูจัง มีเรื่องเคียงแบบกะหล่ำปลีดอง และกิมจิแบบที่ใส่แตงกวาด้วย”

  “เบอร์เกอร์มิยากิซัง เป็นชื่อจากหนังเรื่อง Karate Kid เอาเนื้อบดทำเป็นแผ่นแล้วจุ่มซ้อสแล้วย่าง จุ่มอีกแล้วย่างอีก  จนซ้อสชุ่มเนื้อ แล้ววางบนขนมปัง โรยผงใส่ข้าวญี่ปุ่น วางเบคอนหมักซ้อสที่ย่างกรอบแล้ว พร้อมไข่ดาวไม่สุก มีหัวหอมทอดวางซ้อนสูง วางขนมปังประกบด้านบน กินกับมันทอดพรมด้วยน้ำมันทรัฟเฟิ่ล”

  จะกินก๋วยเตี๋ยว เขาก็มีกะใจจะบรรยายอย่างผู้รู้ ว่าเขาชอบอะไรในก๋วยเตี๋ยวชามนั้นนั้น

  “ชอบกลิ่นโป๊ยกั๊กและอบเชยจางๆ ซ่อนอยู่ในน้ำต้มกระดูกหมู”

  จะกินไก่ทอด เขาก็ไปศึกษาหามาเล่า 

  “ไก่หมักกับน้ำเกลือข้ามคืน เอามาปรุงรสด้วยบัตเตอร์มิลค์ และน้ำผักดองที่ทำเอง ใส่ผงเครื่องเทศอย่างยี่หร่า โอลด์เบย์ และออริกาโน ไกนี้ทอดสองครั้ง ครั้งแรกทอดไฟอ่อน เขาผสมน้ำมันหมูลงไปในน้ำมันใช้ทอดด้วย ส่วนทอดครั้งที่สองก็ใช้ไฟแรงขึ้น มันฝรั่งทอดใช้มันผรั่งติดเปลือก หั่นเป็นแท่ง เขาใช้ไขมันเป็ดมาทำน้ำมันใช้ทอด เสร็จแล้วโรยด้วยโรสแมรี่และไทม์บดละเอียด กินกับซี่โครงอบ มีหัวหอมและกระเทียมจี่กับกระทะ ราดน้ำเกรวี่ที่หอมเบียร์และโรสแมรี่และไทม์สด”

  ทำไมเขาอธิบายถึงอาหาร โดยใช้คำมากมายมาบรรยายได้ขนาดนี้ ทำไมรายการไทยมีแค่ หอมมะนาว เค็มน้ำปลา น่าแปลกใจ ทำไม? ทำไม? ฉันเลยว่าน่าสะพรึง หากช่องรายการมีเงินลงทุนมาเพิ่ม แค่ความคิดสร้างสรรค์มันตันเท่าที่ตันอยู่ ณ ตอนนี้  เธอและฉันจะต้องผจญกับความซ้ำซากไปอีกนานเท่านาน…เสียละกระมัง.