The End and The New Beginning of Burberry

หลายคนคงได้ข่าวแล้วว่าคริสโตเฟอร์ เบลีย์ ผู้เป็น Chief Officer ของ Burberry ได้ลาออกพร้อมสั่งลาด้วยคอลเล็กชั่น February 2018 หลังจากทำงานมาอย่างยาวนานถึง 17 ปี และหลังจากนั้นไม่กี่วันก็มีการประกาศว่าริคคาร์โด ทิสซี่ อดีตครีเอทีฟไดเร็กเตอร์จาก Givenchy ได้รับการประกาศชื่อว่าจะเข้ามาทำงานแทน คริสโตเฟอร์ เบลีย์ ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น


แน่นอนว่าเวลา 17 ปีอาจจะเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เบลีย์ต้องขยับขยายหาอะไรใหม่ๆ ทำ แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีปัจจัยอื่นๆ ให้น่าคิด Burberry เป็นแบรนด์หัวหอกที่ประกาศตัวในการทำ See Now, Buy Now เดินบนรันเวย์ปุ๊บ สามารถซื้อได้ปั๊บ แม้จะในจำนวนไม่มาก และมีบางอย่างต้องพรีออเดอร์ก็ตาม ในขณะที่หลายแบรนด์เคยเดินตามการตลาดนี้แต่ก็ต้องล่าถอยในที่สุด อย่างเช่น Tom Ford
แต่ Burberry ก็ยังยืนยันวิธีการนี้มาจนถึงคอลเล็กชั่นล่าสุด และจากตัวเลขผลประกอบการล่าสุดจากปี 2017 ก็แสดงให้เห็นว่า See Now, Buy Now ของ Burberry นั้นไม่เลวร้ายมากนัก เพราะมีผลประกอบการสูงขึ้นเล็กน้อย 2.77 พันล้านปอนด์ เพิ่มจาก 2.52 พันล้านปอนด์ในปี 2016 ด้วยจำนวนสโตร์กว่า 500 สโตร์ทั่วโลกและการขายออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ส่วนตัวและล่าสุดกับการร่วมมือกับ Farfetch 

Burberry เป็นแบรนด์เก่าแก่และมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองอันเป็นที่จดจำของคนทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นลายตาราง หรือเทรนช์โค้ต เช่นเดียวกันกับแบรนด์ใหญ่ๆ ระดับโลก Chanel มีผ้าทวีด, Yves Saint Laurent มีสูท, Le Smoking Dior มีบาร์แจ็กเก็ต, Louis Vuitton มีลายโมโนแกรมฯลฯ มรดกเอกลักษณ์ของแบรนด์เป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือคนจดจำแบรนด์นั้นๆ ได้ ส่วนข้อเสียก็คือบางทีก็หมดมุกในการขุดเอาตำนานมาปรับเปลี่ยนดัดแปลง หรือแม้กระทั่งการพลาดโอกาสที่จะนำเสนอสิ่งใหม่ๆ การอยู่ในขบวนของผู้นำเทรนด์แฟชั่นของโลก Burberry ก็เช่นเดียวกัน


คริสโตเฟอร์ เบลีย์ เข้ามาทำงานที่ Burberry พร้อมกับการสร้างสรรค์แบรนด์เก่าแก่แบรนด์นี้ให้กลับมามีความทันสมัยในแบบแฟชั่นปัจจุบัน แต่เพียงเท่านั้นอาจจะยังไม่พอ เพราะโลกของแฟชั่นไม่ได้ต้องการแค่เสื้อผ้าที่มีความสวยเก๋ ทันสมัย แต่ยังต้องการการเป็นผู้นำเทรนด์ ความกล้าที่จะแตกต่าง และที่สำคัญจะต้องก้าวนำไปหนึ่งก้าวก่อนใครเสมอ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ Burberry ยังไม่สามารถทำได้ 

เมื่อย้อนกลับไปดูคอลเล็กชั่นที่ผ่านมาสักสองปี จะเห็นได้ถึงการพยายามวิ่งตาม เกาะกระแสเทรนด์เพื่อที่จะอยู่ในขบวนการเป็นผู้นำเทรนด์แฟชั่นของ Burberry ไม่ว่าจะเป็นแทร็กสูทในคอลเล็กชั่น Fall/Winter 2016 ที่มาช้ากว่าเทรนด์จริงไปหนึ่งซีซั่น หรือเสื้อเชิ้ตแขนยาวกว่าแขนจริงในคอลเล็กชั่น Spring/Summer 2017 ซึ่งอันนี้ทุกแบรนด์ก็วิ่งตามเทรนด์นี้ของ Vetements กันทั้งนั้น ตามมาด้วยความพยายามที่จะอยู่ในกระแสความคูลแบบเสื้อผ้าวินเทจ 90s แต่ Burberry เองก็ไม่สามารถขึ้นมาเป็นผู้นำเทรนด์ได้ด้วยตัวเอง จึงต้องทำการคอลลาบอเรชั่นกับเจ้าพ่อของเทรนด์นี้อย่างโกชา รุบชินสกี แต่ก็นั่นแหละ ในเมื่อเทรนด์นี้มันมีผู้นำเทรนด์อยู่แล้ว คนก็จะหันไปหาผู้นำเทรนด์ตั้งแต่ต้นเสียมากกว่า และมันก็ทำให้เกิดคำถามต่อ Burberry เองว่าเอกลักษณ์ของแบรนด์นั้นคืออะไร

จวบจนมาถึงคอลเล็กชั่นสุดท้ายในการทำงานของคริสโตเฟอร์ เบลีย์ ที่ทำให้เห็นว่า Burberry นั้นขยับมาสู่ในเทรนด์แฟชั่นในแบบปัจจุบันอย่างสมบูรณ์ แม้ว่ายังจะได้ดูใหม่และเห็นได้ว่ายังคงวิ่งตามสไตล์ที่เป็นเทรนด์หลักอยู่ แต่ก็เห็นว่ายังสามารถผสมผสานเอกลักษณ์ ของตัวเองเข้าไปอยู่ในนั้นได้อย่างไม่ประดักประเดิด แถมยังสามารถสร้างเอกลักษณ์ใหม่ๆ ขึ้นมาได้ แต่ถึงกระนั้นก็เป็นคอลเล็กชั่นสุดท้ายของคริสโตเฟอร์ เบลีย์ ก่อนจะส่งไม้ต่อให้กับริคคาร์โด ทิสซี่ 


จะว่าไปโมเดลที่ประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์เก่าให้กลับมาใหม่และโดดเด่นนั้นคือการล้างไพ่ และแทบไม่ต้องไปคำนึงเอกลักษณ์อันเก่าแก่มากนัก ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นอะไรที่กั๊กๆ กล้าๆ กลัวๆไม่ไปไหนเสียที ดังเช่นการทำงานของ เด็มนา กวาซาเลีย ที่ Balenciaga ที่เรียกได้ว่าเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ หรืออเลสซานโดร มิเคเล ที่ Gucciก็เหมือนกัน

และในกรณีของ Burberry ก็คงต้องรอดูว่าริคคาร์โด ทิสซี่ จะทำอย่างไร เพราะถ้าหากยังกล้าๆ กลัวๆ อย่างคริสโตเฟอร์ เบลีย์ แล้วค่อยมาวิ่งไล่กวดตามหลังเห็นทีจะไม่ทันการ แต่เมื่อพิจารณาจากการทำงานที่ Givenchy ของริคคาร์โด ทิสซี่ ก็พอจะเห็นว่าแม้จะไม่ถึงกับล้างไพ่ใหม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เขาก็ไม่พยายามจะปลุกผี Givenchy ซึ่งทำให้ Givenchy กลับมาเป็นแบรนด์โดดเด่นอีกครั้งได้อย่างที่เราได้เห็นกันมาแล้ว และหวังว่าในการมาทำงานที่ Burberry ครั้งนี้ เขาจะสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับที่ผ่านมา