สิงสู่ (reside) การทำหนังแบบแทงหวยของ – วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง

12.12.18 1,526 views

สิงสู่เดิมพันในการเล่นไฮโลครั้งใหม่ของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง

  หลังจากที่  วิศิษฏ์  ศาสนเที่ยง  ครองสถานะนิ่งๆ  อยู่พักใหญ่  เพราะหลังจบจากการกำกับภาพยนตร์เรื่อง  รุ่นพี่ (2558) เขาก็ผันตัวไปเป็น  Content Creator สังกัด  Transformation เต็มตัว  ทำหน้าที่ผู้อยู่เบื้องหลังคอยจุดประกายไอเดียเด็ดๆ  แล้วส่งต่อให้ผู้กำกับหลายๆ  คนนำไปผลิตเป็นภาพยนตร์  โดยผลงานผลงานเรื่องล่าสุดที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดีอย่างภาพยนตร์แนว  Romantic-Horror เรื่อง  แสงกระสือ (กำกับโดย  สิทธิศิริ  มงคลศิริ) ที่เดิมมีกำหนดต้องเข้าฉายในช่วงเดือนธันวาคมปีนี้  แต่ยังติดพันอยู่ในกระบวนการโพสต์โปรดักชั่น  ดังนั้น  จากสถานะกุนซือคอยคิดเกม  วิศิษฏ์จึงต้องกระโจนเข้ามาเป็นอัศวินกู้ทัพให้ทรานสฟอร์เมชั่นเสียเอง  ด้วยการเขียนบทและกำกับภาพยนตร์เรื่อง  สิงสู่  ภายในเวลาไม่กี่เดือน  ภายใต้กลยุทธ์ใหม่ในชื่อ  Hi-Lo Project โปรเจคท์ที่เตรียมคลอดหนังทุนต่ำ  ดำเนินงานตามใจโปรดิวเซอร์และผู้กำกับเป็นหลัก  แต่ก็ยังต้องล้นเหลือด้วยไอเดียดีๆ  ที่คนดูต้องยอมตีตั๋วเข้าไปชมในโรงภาพยนตร์  ตามมาอีกในไม่ช้า



ตอนนี้ถือว่าการทำงานกับค่ายทรานสฟอร์เมชั่นเป็นงานประจำของคุณเลยรึเปล่า

  ครับ  ผมเป็นคอนเทนท์ครีเอเตอร์  ทำหน้าที่คิดคอนเทนท์  หาผู้กำกับ  ผลักดันโปรเจคท์  ดูสคริปท์  ตรวจสอบสคริปท์  แต่ไม่ถึงกับลงไปกองถ่าย  บางเรื่องก็ไม่ได้โปรดิวซ์  ไม่ได้ดูแล  ก็เข้าออฟฟิศบ้าง  แต่ไม่ทุกวัน  ซึ่งพอผมเป็นคอนเทนท์ครีเอเตอร์ก็ไม่ได้คิดจะมากำกับแล้ว  แต่ว่าพอดีปีนี้มีโปรเจคท์นึงที่เราดูแลคือ  แสงกระสือ  มันยังไม่เสร็จสมบูรณ์  ด้วยเรื่องของ  CG ซึ่งถ้าไม่มีเรื่องนี้  ปีนี้ทางค่ายจะไม่มีหนังเลย  ทางผู้บริหารก็เลยถามผมว่าสามารถทำโปรเจคท์อะไรด่วนๆ  เร็วๆ  งบไม่ต้องเยอะ  ซีจีไม่ต้องมีได้บ้างไหม  พอโจทย์มาแบบนี้  ผมก็เลยต้องคิดหนังเรื่องนี้ทั้งหมดตามโจทย์  แต่ก็ไม่ได้ทำแบบผาๆ  แต่เป็นการคิดเรื่องขึ้นมาให้เวิร์คกับโจทย์นี้ภายในเวลาที่จำกัด


รู้ตัวว่าต้องทำภาพยนตร์เรื่อง สิงสู่ ตอนไหน

  กลางปีก็รู้แล้วว่าแสงกระสือไม่เสร็จแน่  ก็เลยเริ่มตั้งแต่คิด  เขียนบท  แล้วก็รีบทำ  โจทย์ก็คือ  ทำยังไงก็ได้  แต่ต้องทำหนังสนุก  ที่มีไอเดียหน่อย  ผมก็ไปคิดถึงหนังแบบ  A24, Get Out, A Quiet Place ซึ่งเป็นหนังใช้ไอเดีย  งบไม่ต้องเยอะ  ตัวละครน้อยๆ  ก็พยายามหาสูตรนั้นมา  เลยเขียนบทเองคนเดียว 


เครียดไหมกับความบีบคั้นนี้ หรือเป็นโจทย์ที่คุณเองก็รออยู่เหมือนกัน

  เป็นโจทย์ที่คิดไว้เหมือนกัน  คือ  หนังที่ใช้งบประมาณเยอะ  ใช้เวลานาน  ขั้นตอนการทำมันจะยุ่งยาก  ต้องผ่านคณะกรรมการ  มีการคอมเมนต์  มีฝ่ายการตลาด  กว่าจะไฟเขียวใช้เวลาเป็นปี  แล้วหนังมันเป็นเรื่องเล่นกับเทรนด์  บางทีสิ่งที่เราคิดไว้ปีนี้  กว่าจะถึงปีหน้าเทรนด์ก็อาจจะเปลี่ยนไปแล้ว  แต่ยังไงก็ต้องเป็นหนังไอเดียคมๆ  ไอเดียแปลกใหม่  ผมอยากทดลองทำหนังแนวใหม่ๆ  ซึ่งตลาดบ้านเราหายไปสักพัก  เรามักจะทำกันแต่หนังเพลย์เซฟ  โรแมนติกคอมาดี้  หนังผีทั่วๆ  ไป  หรือไม่ก็หนังที่ขายได้กันหมด  คราวนี้เราอยากได้ไอเดียแปลกๆ  ที่พูดตรงๆ  ว่าถ้าเป็นหนังฟอร์มใหญ่มากๆ  ก็ขายไม่ค่อยได้  เพราะเขาก็จะกลัวว่ามันเสี่ยง  ผมเลยเซตเป็นโปรเจคท์ทดลองชื่อว่า  Hi-Lo Project โดยมีสิงสู่เป็นเรื่องแรก  ก็เหมือนเล่นไฮโล  แทงหวย  เผื่อถูก  แต่ว่าข้อดีที่เราขอกับผู้บริหารก็คือ  เราขออิสรภาพในการทำ  ฝ่ายอื่นๆ  ยังสามารถคอมเมนต์ได้  แต่ขอเป็นคนกลุ่มเล็กๆ  คุยกันเองภายใน  แล้วตัดสินใจเลย  และขออิสระต่างๆ  ในการควบคุม  รวมถึงการทำโปรโมททั้งหมด 




ที่บอกว่าหนังไทยไม่ค่อยมีหนังไอเดียมาสักพัก แล้วหนังไทยไอเดียสำหรับคุณ หมายถึงเรื่องไหน

  ล่าสุดก็คือ  The Pool ผมชอบ  และเชียร์มาก  ผมอยากให้มีหนังแบบนี้  หนังไอเดียที่เล่นกันอยู่ไม่กี่คน  มันจะ success หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่อง  แต่มันมีคนกล้าที่จะทำ  อาจจะทำยังไม่ถึงก็อย่าเพิ่งไปท้อ  เดี๋ยวถ้าทำโดนเมื่อไรมันก็จะโดน  ต้องอดทน  ต้องเชื่อมั่น  ผมชื่นชมทั้งความกล้าของผู้กำกับด้วย  และนายทุนด้วยที่กล้าให้ทำ  ผมรู้สึกว่าน่าตื่นเต้นที่มีอะไรใหม่ๆ  แบบนี้  อยากให้มีเยอะๆ


พอมาทำเองกดดันไหม หนังไอเดียมันก็ต้องดี ต้องคม ทำยังไงคนดูถึงจะอยากติดตามได้ตลอดเรื่อง

  ก็กดดันพอสมควร  แต่ข้อดีก็คือ  เราใช้งบที่ไม่ได้สูงมาก  ฉะนั้น  งบจะมีผลต่อระดับความกดดัน  ยิ่งมาก  ยิ่งเครียด (หัวเราะ) ยิ่งใหญ่ยิ่งเจ๊ง  น่ากลัว  แต่เรื่องนี้เราไม่ได้คาดหวังร้อยล้าน  เราคาดหวังว่ามันจะคุ้มทุนกลับมาในเวลาที่ลงไป  ซึ่งไม่นานมาก 


ไอเดียในการทำเรื่อง สิงสู่ เกิดจากการที่คุณสนใจหนังแนวฆาตกรรมในห้องปิดตายอยู่แล้วรึเปล่า

  จริงๆ  แล้วหนังแนวนี้เรียกว่าหนังคลาสสิคของโลกก็ว่าได้  เป็น  genre ที่ใช้กันบ่อย  อย่างหนังเรื่อง Orient Express สำหรับผมมันคลาสสิคดี  สามารถเข้าเรื่องได้เร็วโดยไม่ต้องปูแบ็คกราวด์ตัวละคร  แต่จะค่อยๆ  คลี่คลายระหว่างทาง  พอมาผสมกับเรื่องผี  ซึ่งเรามีผีที่อยากทำหลายแบบอยู่แล้ว  และเรื่องการเข้าทรงก็บังเอิญเป็นสิ่งที่สนใจ  ยิ่งในช่วง 2-3 ปีมานี้เกิดปรากฏการณ์เรื่องการทรงเจ้าเข้าผีเยอะขึ้นจนผิดสังเกต  จนผมรู้สึกว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย  เลยสนใจที่จะตั้งคำถามและศึกษา  ก็พอดีได้คุยกับพี่คาเงะ (ธีรวัฒน์  มุลวิไล) ศิลปินศิลปาธรสาขาการแสดง  ที่เขาก็สนใจเรื่องพวกนี้อยู่  แล้วเราก็จูนความคิดตรงกัน  พอเขาเสนออะไรดีๆ  เราก็ใส่เข้าไปในหนัง  ซึ่งตำแหน่งที่ผมให้เขาก็คือ  ผู้กำกับการแสดง  ส่วนผมเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่ดูภาพรวมของหนังทั้งเรื่อง  ส่วนรายละเอียดทางการแสดงเป็นของพี่คาเงะทั้งหมด  ผมปรับบทตามที่เขาเสนอแนะเยอะเหมือนกัน  กระทั่งนักแสดงคนอื่นๆ  พอมาอ่านบทด้วยกันแล้วมีข้อสงสัยอะไร  ถ้าเขาเสนอมาแล้วดี  ผมก็เปลี่ยนบทให้  อย่างอนันดา (อนันดา  เอเวอริงแฮม) เสนอมาดีๆ  หลายอัน  ผมก็เปลี่ยนตามเขา  เป็นหนังที่ทำร่วมกันจริงๆ 





บรรยากาศแบบนี้เกิดขึ้นในหนังเรื่องก่อนๆ ของคุณรึเปล่า

  ไม่มี  ผมควบคุมทุกอย่าง (หัวเราะ) ผมเป็นพวกชอบเป๊ะ  เมื่อก่อนจะมีสตอรี่บอร์ดล็อคเอาไว้เป๊ะๆ  ไปดูเรื่อง  ฟ้าทะลายโจร  สิ  สตอรี่บอร์ดกับหนังแทบจะเฟรมเดียวกันเลย  แต่เรื่องนี้ปล่อยอิสระ  เป็นการทดลองแบบใหม่  เพราะบางทีไปควบคุมมากๆ  หนังก็มีความกระด้าง  แข็ง  เกร็งเกินไป  การปล่อยอิสระก็ช่วยให้ลื่นไหล  สิ่งที่ได้อาจจะไม่ตรงกับใจเรา  แต่มันได้อะไรที่ดีกว่าเดิม


ความรู้สึกระหว่างทำเรื่องนี้เป็นยังไงบ้าง

  มันดีตรงที่เราเรสเปกท์กับทีมงานทุกๆ  ฝ่าย  อย่าง  หญิง  นิรมล  รอสส์  ที่เป็นตากล้อง  เราไม่ยุ่งกับเขาเลย  ปกติตากล้องคนอื่นๆ  เราจะคอยไปดูเฟรมเขา  หรือบางทีก็เปลี่ยนเลนส์  เลือกเลนส์ให้เขา  แต่สำหรับเรื่องนี้เขาจัดการเอง  เพราะส่วนใหญ่จะถ่ายแบบแฮนด์เฮลด์ทั้งเรื่อง  ดังนั้น  หญิงจะต้องควบคุมเองว่า  จบไดอะล็อกนี้แล้วจะไปที่ใครต่อ  เขาศึกษาบทมาแล้วแบบแม่นมาก  พูดง่ายๆ  คือ  ผมได้เรียนรู้ว่างานยิ่งใช้เวลาน้อย  งบไม่เยอะ  ต้องใช้มืออาชีพเท่านั้น  ถึงจะเสร็จเร็วตามกำหนด


เช่นเดียวกับนักแสดงที่เลือกยอดฝีมือมาล้วนๆ เช่นกัน

ตอนเขียนบทนายแม่เจ้าสำนึก  ผมนึกถึงหน้าคุณทาริกา  ทิดาทิตย์  เลย  และเขียนลงไปในบทเลยว่าเป็นผู้หญิงผมขาว  ใส่ชุดดำ  หน้าตาดูมีสง่า  ซึ่งในประเทศไทยมีไม่กี่คนหรอก  แต่ก็ไม่มั่นใจว่าเขาจะยอมมาเล่นไหม  เพราะบทค่อนข้างโหด  โชคดีที่เขาอยากเล่น  ส่วนอนันดาก็เป็นช้อยส์แรกๆ  ด้วยความที่เวลาค่อนข้าง rush หานักแสดงได้ค่อนข้างยาก  ผมเลยอยากได้คนที่เคยทำงานร่วมกัน  และรู้ทางกัน  โชคดีที่เขาว่างช่วงนั้นพอดี  ส่วนจ๋า (ณัฐฐาวีรนุช  ทองมี) อายุใกล้เคียงกับตัวละครในเรื่องพอดี  และผมชอบการแสดงของจ๋าอยู่แล้ว  กระทั่งเขาเล่นแสบสนิทฯ  ซึ่งเป็นหนังตลกคอมาดี้  แต่เรารู้สึกเขาเล่นได้ดี  เขารู้เซนส์ของการเล่นสองชั้น  ทำเป็นปัญญาอ่อน  ทำเป็นโนะเนะได้  และผมรู้สึกว่าคู่นี้น่าจะเคมีเข้ากันได้  ส่วนน้องพลอย  ศรนรินทร์  ผมเลือกมาเองเลย  ไม่ต้องแคสติ้ง  ชอบตั้งแต่ตอนเขาแสดงเรื่อง  อาปัติ  และสยามสแควร์  เขาเป็นเด็กมหัศจรรย์  เป็น  rising คนหนึ่ง  พอมาร่วมงานแล้วก็รู้สึกเขาเกินเด็ก  เพอร์ฟอแมนซ์สุดยอด



ตอนที่คุณทำเรื่อง ฟ้าทะลายโจร คุณเอาความชอบเรื่องศิลปะอย่างสไตล์งานของครูเหม เวชกร มาเป็นเรเฟอเรนซ์ ส่วนในเรื่อง สิงสู่ คุณเอาความชอบด้านไหนมาใส่ในหนังบ้าง

  บอกได้เลยว่า  สิงสู่เป็นหนังที่ผมอยากคารวะหนังผียุคเก่าที่ยังไม่มีซีจี  อย่าง The Exorcist ซึ่งถ้าบางคนดูสิงสู่แล้วบอกว่าบางฉากเหมือน The Exorcist ก็ต้องเหมือนอยู่แล้ว  เพราะผมตั้งใจ  รวมถึงบางฉากที่ตั้งใจทำขึ้นเพื่อคารวะ The Shining และพล็อตอย่าง Evil Dead ซึ่งถ้านักดูหนังที่เข้าใจมาดูก็จะรู้  อย่างฝรั่งก็มีการทริบิวต์ให้สิ่งที่เขารัก  อย่างฉากไล่ยิงกันบนบันไดโอเดสซ่าในเรื่อง The Untouchables ก็มาจากเรื่อง Battleship Potemkin ซึ่งเป็นหนังคลาสสิคโบราณ  นักดูหนังตัวยงจะรู้ว่าเขาทำขึ้นเพื่อคารวะฉากนี้  แต่คนไม่รู้ก็จะบอกว่ามึงลอกมาๆ  จะไปลอกทำไม  มันชัดเสียขนาดนั้น  เขาไม่ลอก  เขาเรียกว่าตั้งใจ  ถ้าลอกต้องบิดกันจนดูไม่ออก  ซึ่งสำหรับคนที่ไม่เข้าใจก็ไม่ต้องไปอธิบาย 


ถือเป็นความสนุกของผู้กำกับเลยไหมกับการได้คารวะหนังที่เรารัก

  ของผู้กำกับเกือบทั้งโลกก็ว่าได้  เพียงแต่เราต้องบอกว่าเราคารวะเรื่องไหน  ต้องแจ้งไปเลย  ซึ่งมันเป็นคล้ายๆ  อีสเตอร์เอ้กที่แอบใส่ลงไป  ถ้าคนที่รู้และเข้าใจมาดูก็จะเกตเลย 


จากที่คุณเคยเป็นผู้กำกับมาตลอด พอเปลี่ยนบทบาทมาเป็นคอนเทนท์ครีเอเตอร์  สนุกกว่าเดิมไหม

  สนุกตรงได้คิดอะไรหลากหลายโดยที่เราไม่ต้องลงมือทำเอง  แต่ก็ไม่สนุกตรงที่เราควบคุมมันไม่ได้  บางอย่างก็ขึ้นกับผู้กำกับคนนั้นๆ  ซึ่งเขาก็ต้องตีความใหม่  หามุมใหม่  ที่บางครั้งก็ไม่ใช่สิ่งที่เราคิดไว้เอง  แต่ถ้าเราเข้าไปควบคุมก็จะกลายเป็นหนังของเราไปอีก  ฉะนั้นโปรเจคท์นี้เลยตัดสินใจทำเอง 


เท่ากับว่าสิงสู่ถือเป็นหนังของคุณเต็มๆ เพราะสตูดิโอก็มายุ่งน้อยด้วย 

ก็ยุ่งได้  เพียงแต่ขออิสระในการตัดสินใจ  เช่น  บางทีถึงเขาคอมเมนต์มา  ก็แล้วแต่เรา  จะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนก็ได้  ก็คือแลกมาด้วยอิสรภาพ  แต่เป็นโปรเจคท์ที่ผมไม่ได้รับค่าตัว  ตั้งใจทำฟรี  เพราะงบน้อย  เราเองก็อยากให้งานโปรดักชั่นยังออกมาดีอยู่  ไม่ใช่งบน้อยแล้วทำเผาๆ  เพื่อเอากำไร  หรือเอาเงินเข้าตัว  ผมไม่เคยคิดแบบนั้น


ซึ่งถ้าสิงสู่ไปได้สวย ไฮโลโปรเจคท์ ก็จะมีผลงานเรื่องอื่นๆ ตามมา 

  ก็พยายามอยู่  จริงๆ  แล้วผมไม่ได้คิดถึงแต่ตัวบริษัทอย่างเดียว  ผมคิดไปถึงว่าหนังไทยน่าจะมีโปรเจคท์ทางเลือก  คือมีหนังอินดี้มากขึ้น  แต่ว่าไม่ใช่หนังอาร์ต  คนชอบคิดว่าอินดี้คืออาร์ต  ไม่ใช่  อาร์ตก็เป็นอาร์ต  หนังอินดี้ก็อย่างที่บอกไปแล้ว  เช่น  เรื่อง Get Out, A Quiet Place หรือ  Light Out ซึ่งเป็นหนังไอเดียที่สตูดิโอใหญ่ไม่สนใจ  เขาก็ต้องหาเงินทำกันเองบ้าง  เพราะหนังที่ออกมาจากสตูดิโอส่วนมากเป็นสูตรที่ล็อคไว้แล้ว  ออกมา 10 เรื่องก็เหมือนกันไปหมด  ผมไปดู Fantastic Beasts ภาคล่าสุด  มันก็คือ Star Wars นี่หว่า  เรื่องของการเดินทางไปสู่ด้านมืด  เดินเรื่องตามสูตรนี้เลย  เพียงแต่เปลี่ยนตัวละคร  ฉะนั้น  ไอเดียใหม่ๆ  จึงสำคัญ  และจุดประกายให้คนทำหนังรู้สึกว่ายังมีทางไปได้อีก  ไม่งั้นคนก็จะทำแต่หนังโรแมนติคคอมาดี้  มีหนังแนวนี้ออกมาเต็มไปหมด แล้วก็เจ๊งเสียส่วนใหญ่  จริงๆ  แล้วเจ๊งไม่เป็นไร  แต่เจ๊งแล้วมีอะไรน่าตื่นตาตื่นใจก็ยังดี  แต่ถ้าเจ๊งแล้วก็ไม่มีใครอยากจดจำกระทั่งคนทำ  มันก็น่าเสียดาย



สู้ทำหนังอย่าง The Pool ดีกว่า

  ถูกต้อง  กล้าที่จะทำและเปิดสมองคน  ทำไมไม่คิดอะไรแบบนี้กันบ้าง


แปลว่าไอเดียของคุณไม่มีวันมอดหมด

  ชีวิตนี้ทำไม่มีทางหมดแน่ต้องไปต่อชาติหน้า (หัวเราะ) เยอะมาก  ผมคิดคอนเทนท์ได้ทุกวัน  แต่มันจะเวิร์คหรือไม่เวิร์คแค่นั้น  บางทีคิดได้แบบสปาร์คขึ้นมาในหัวเลย  แต่เฉพาะคอนเทนท์นะ  ยังไม่ใช่เรื่อง  เดี๋ยวต้องมีคนเอาไปทำเป็นเรื่องต่อ  ซึ่งบางทีเขียนเป็นเรื่องเสร็จแล้วไม่รอดแล้วต้องทิ้งก็เยอะ  ผมจึงต้องคิดคอนเทนท์ไว้เยอะๆ  เพราะมันจะเหลือรอดอยู่ไม่กี่อัน  จริงๆ  ก็เหมือนกับแฟชั่นดีไซเนอร์  ที่สเก็ตช์หยาบๆ  ขึ้นมาวันละเป็นร้อยชุด  แล้วให้คนเอาไปแกะแบบขึ้นแพทเทิร์น  ซึ่งคนนี้ต่างหากที่เก่งกว่า  แต่กลับไม่ค่อยได้เครดิต 


แล้วคิดว่าผลลัพธ์ของ สิงสู่ จะออกมาเป็นยังไง

  ด้วยความที่สิงสู่เข้าโรงฉายชนกับหนังใหญ่ของฮอลลีวู้ดอย่าง  Aquaman ก็คงอาการไม่ค่อยดี  คงจะสาหัส  เหมือนรถเล็กชนประสานงากับรถบรรทุก  คิดดูแล้วกัน  แต่ว่ายังไงก็ตาม  เรายังคงจำเป็นต้องมีหนังไทยเป็นอุตสาหกรรมในประเทศที่จะต้องฉายให้คนดูต่อไป  ต่อให้เราสู้เขาไม่ได้  แต่เราก็พยายามจะสู้  คือ  มันก็ไม่เหมือนกับสู้หรอก  เราเสนอตัวเป็นทางเลือก  เพราะฉะนั้น  ผมอยากจะให้มองว่า  เหมือนกับคุณกินเมนคอร์สแล้ว  อยากให้ลองมาชิมไอ้จานนี้บ้าง  มันไม่เสียหลาย  อย่าเพิ่งอคติว่าหนังไทยแย่  ไม่ดูหรอก  เรื่องที่ดีๆ  ก็มี  เพียงแต่ว่าเราอาจจะเหมารวมไปหมด  ซึ่งผมก็ไม่ได้บอกว่าหนังผมจะดีกว่าของคนอื่น  แต่ทดลองเปิดใจดู  ไม่ดีก็ด่าได้  แต่ไปดูแล้วไม่ดีแล้วค่อยด่าดีกว่า  บางคนแค่เห็นหนังตัวอย่างก็ด่าแล้ว  ก็เกินไปหน่อย  ในขณะที่หนังฝรั่งแค่ประกาศว่าจะปล่อยที  ทุกคนตั้งหน้าตั้งตารอจะกดแชร์  แต่กลับดูถูกหนังไทย  ยังไงก็ตามมันก็เป็นเชื้อชาติของเรา  อุตสาหกรรมในประเทศเรา  ไม่ถึงกับต้องส่งเสริมมันทุกเรื่องหรอก  เรื่องไหนที่ดูน่าส่งเสริมก็ส่งเสริม  เรื่องไหนไม่ดีก็ไม่ต้องส่งเสริม  เป็นทางเลือกที่คนดูไม่ผิดอยู่แล้ว  เพียงแค่ผมรู้สึกว่าบางทีหลายๆ  คนก็เรียกร้องสิ่งใหม่ๆ  แต่พอทำสิ่งใหม่ๆ  คุณก็ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เรียกร้องด้วย  ไม่งั้นมันก็จะไม่มีคนทำ  คนทำหนังก็จะท้อกันหมด  ก็จะเสร็จหนังฮอลลีวู้ดหมด  และบางคนกลับบอกว่า  ไม่ต้องมีหนังไทยเลยก็ได้  ก็แปลกดีที่มีความคิดแบบนั้น  เพราะยังไงเราก็ต้องมีของพื้นบ้าน  ของที่เป็นโลคัลอยู่เสมอตลอดไป  ก็ลองไปดูสิงสู่ดู  ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงมากนัก (หัวเราะ)