คุยกับ เป็นเอก รัตนเรือง – ทำยังไงถึงจะทำหนังให้ได้ร้อยล้านอย่าง GDH

Written by  
07.03.18 374 views
Written by  

07.03.18 374 views

น่าจะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่ตอนนี้ใครๆ ก็พูดถึงเขา ใครๆ ก็สัมภาษณ์เขา HAMBURGER ก็ชวนเป็นเอก รัตนเรือง มานั่งคุยเหมือนกัน แต่ไม่ได้คุยเรื่อง Samui Song หรือครบรอบ 20 ปีในการทำงานของเขา แต่เราคุยกันเรื่อง ทำอย่างไรจะทำหนังได้ให้ 100 ล้านอย่าง GDH! ทำไมเป็นเอกถึงบอกว่า “GDH แม่ง คือ Gucci” จะดุเดือดเผ็ดมันแค่ไหน เชิญชม!!!

“ เรายอมรับเลยว่าไอ้การทำหนังร้อยล้านเนี่ย เป็นความลับดำมืดมากๆ สำหรับเราเลย ”
— เป็นเอก รัตนเรือง


คุณคิดว่าทำไมถึงมีแค่สตูดิโอเดียวในเมืองไทยที่ประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง

พูดให้ชัดไปเลยว่า GDH นั่นแหละ เรามองว่าเขาเป็นสตูดิโอเดียวในเมืองไทยที่ทำหนังแบบ Business แต่ค่ายอื่นๆ เขาทำหนังแบบ Bet คิดว่าการลงทุนทำหนังเหมือนแทงม้า ปีหนึ่งแทงไปสัก 10 เรื่อง แล้วบังเอิญว่าในจำนวนนั้นแทงเข้าม้าสักหนึ่งตัวแบบเต็มๆ รายได้จากตรงนั้นก็มากพอจะเอามาคัฟเวอร์ม้าอีก 9 ตัวที่เจ๊งได้แล้ว แต่ GDH เขาไม่ได้คิดแบบนั้น เขาคิดว่าหนังโดนทุกเรื่อง เขาจึงเน้นกันทุกขั้นตอนตั้งแต่เสนอบทมาก็ต้องเอาเข้าที่ประชุม เพื่อคิดบวกลบคูณหารว่าผลลัพธ์จะเป็นยังไง ถ้าดีก็ไปต่อ ถ้าแย่ก็ตีตกไป แล้วตัดต่อเสร็จก็ไม่ได้หมายความว่าเอาแบบนั้นเลยนะ เพราะเขาต้องเอาไปทดลองฉายกับคนดูกลุ่มหนึ่งก่อน แล้วก็แจกแบบสอบถามว่าตลกตรงไหน ดีตรงไหน ถ้ามีอะไรที่ไม่เก็ตก็ไปตัดต่อใหม่ ถ้าไม่มีฟุตเทจก็ถ่ายซ่อมอีกครั้ง การโปรโมตก็เรียกได้ว่าเก็บกันทุกเม็ดไม่มีหล่น เขามองแบบธุรกิจว่าทุกเรื่องต้องได้เงิน


หมายความว่าถ้าอยากประสบความสำเร็จ ก็ต้องคิดละเอียดแบบครบวงจรไปเลย

แน่นอนอยู่แล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าทุกความสำเร็จต้องอาศัยโชคดีด้วย จำได้ว่ามีครั้งหนึ่งที่ GDH เกือบจะไปไม่รอดแล้วเหมือนกัน เพราะตอนนั้นเขาทำหนังใหญ่ๆ เจ๊งติดกัน 2 เรื่อง เราเคยนั่งกินข้าวคุยกับ GDH สัก 10 กว่าปีก่อนได้มั้ง เขาบอกว่าถ้าเรื่องหน้ายังเจ๊งอีกก็คงต้องปิด กว่าจะสำเร็จได้ขนาดนี้ เขาก็เฟลมาเยอะมากเหมือนกัน  แต่ทุกครั้งที่เฟล เขาจะเก็บความล้มเหลวตรงนั้นมาวิเคราะห์ว่าเกิดจากอะไร หาจุดอ่อนให้เจอ เพื่อที่ทำหนังคราวหน้าจะไม่พลาดในจุดนี้อีก เขาทำธุรกิจกันอย่างรัดกุม จนประสบความสำเร็จมาเรื่อยๆ ทุกวันนี้ GDH ไม่ได้เป็นแค่ค่ายหนังแล้วนะ เราคิดว่าเขากลายเป็นแบรนด์ที่แข็งแรงมากไปแล้ว ทำหนังออกมากี่เรื่องๆ ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าใครกำกับ แต่คนก็พร้อมจะเข้าไปดูหนัง GDH เอาจริงๆ ถ้าเขาเปิดร้านอาหาร GDH ก็มีคนไปกิน ต่อให้เปิดร้านล้างรถหรือรับต่อ พ.ร.บ. ก็ยังได้เลยตอนนี้ ถือเป็นความสำเร็จในยุคโมเดิร์นเลยนะ เป็นความสำเร็จที่ไม่ได้มาเพราะความฟลุก แต่เกิดจากความวิริยอุตสาหะและรสนิยมที่ดีของพวกเขา


คุณคิดว่าสตูดิโอภาพยนตร์ควรเดินตามโมเดลของ GDH หรือทำตามสไตล์ของตัวเองไปเรื่อยๆ  ดีกว่า

เราชื่นชม GDH มาก คิดว่าอุตสาหกรรมหนังไทยเป็นหนี้บุญคุณพวกเขาเยอะมาก เพราะในขณะที่ทุกอย่างซบเซา ทำออกมากี่เรื่องก็เจ๊งเกือบหมด แต่ก็ยังมีหนัง GDH มาช่วยดึงให้ภาพรวมดูดีขึ้น แต่ส่วนตัวเราก็มีเรื่องที่เสียดายกับ GDH นิดหน่อยคือเขามีหนังอยู่ประเภทเดียว และเขากล้าน้อยไปหน่อย เพลย์เซฟไปหน่อย บางทีก็น่าเบื่อเหมือนกันที่เห็นทำหนังแนวนี้อีกแล้ว เราคิดว่าถ้าแบรนด์เขาประสบความสำเร็จมากขนาดนี้ ก็น่าลองทำอะไรใหม่ๆ อีกสักหน่อย การทำหนังเพลย์เซฟแบบนี้ทำให้คิดว่าเขามองข้ามเรื่องเงินไปแล้ว เพราะเราคิดว่าตอนนี้เขาคงมีเงินมหาศาล ถ้าเกิดน้ำท่วมขึ้นมาคนอื่นเอากระสอบทรายมากั้นน้ำ แต่ GDH อาจจะเอากระสอบเงินมากั้นแทนก็ได้ ดังนั้นเราจึงคิดว่าการทำหนังของเขาไม่ใช่ว่าอยากได้เงิน แต่เป็นเรื่องศักดิ์ศรีที่หนังต้องทำเงิน หนังเจ๊งไม่ทำให้เขาสะเทือนหรอก แต่จะทำให้เขาเสียหน้าแทน เรามองว่าทุกค่ายควรทำเหมือนสตูดิโอในสหรัฐฯ มีจุดยืนเป็นของตัวเอง ไม่ควรแห่ทำตามกันหมด ไม่อย่างนั้นคนดูคงเลี่ยนตาย ชีวิตนี้จะฟีลกู๊ดกันไปถึงไหน แต่คนในอุตสาหกรรมหนังไทยกลับไม่คิดอย่างนั้น พอเห็นใครประสบความสำเร็จเข้าหน่อยก็ทำตามบ้าง พอไปตามก็ทำออกมาไม่ดีเท่าเขา หนังหลายเรื่อง็เลยเจ๊งแบบที่เห็นนั้นแหละ


เหมือนคนดูสมัยนี้จะติดภาพว่า ภาพยนตร์ไทยถ้าไม่ใช่ GDH จะเท่ากับภาพยนตร์ห่วย

อ้าว! คนดูเขามีพฤติกรรมแบบนั้นก็เพราะอะไรล่ะ? เป็นเพราะความห่วยของคุณเองไม่ใช่เหรอ เรื่องนี้โทษคนดูไม่ได้หรอก เพราะคนดูไม่ได้มานั่งมโนว่าหนังไทยเรื่องอื่นที่ไม่ใช่ของ GDH มันห่วย ก่อนหน้านี้เขาอาจไปดูหนังไทยมา 2-3 เรื่องติดกัน แล้วดันเป็นหนังห่วยทุกเรื่อง แบบนี้ยังให้คนดูมองว่าหนังไทยเรื่องอื่นดีอีกเหรอ ถ้าคุณอยากทำให้ได้อย่าง GDH คุณก็ต้องไปหาวิธีที่เหมาะสมในแบบของคุณเอง


หมายความสดูติโอในไทยควรหาวิถีทางของตัวเองแทนที่จะเลียนแบบกัน

 แต่ที่ผ่านมาเราไม่คิดแบบนั้น อุปทานหมู่กันไปหมด ใครได้เงินเยอะ หรืออะไรที่กำลังบูมเป็นกระแส ก็ทำตามๆ กันหมด แล้วนิสัยแบบนี้ไม่ได้เป็นแค่ในอุตสาหกรรมหนังนะ เป็นกันทุกวงการในเมืองไทย เราคิดว่าคนไทยมีนิสัยชอบทำอะไรเกินตัว เป็นนิสัยที่ไม่ดีมากๆ ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่ทำอะไรที่ตัวเองทำได้ดีก่อน


ถ้าไม่ทำก็อาจจะตกกระแสแล้วไม่ได้รับส่วนแบ่งในช่วงที่กำลังบูมนะ

คนสมัยนี้เกาะติดกับเทรนด์แบบไม่มีตกเลยนะ แต่ชีวิตที่เห็นเนี่ยไม่ได้มีคุณภาพอะไรเลย เราไม่ปฏิเสธว่าการตามเทรนด์เป็นเรื่องไม่ดี เราคิดว่าควรจะตามเทรนด์ด้วยซ้ำ เพราะถ้าไม่ตามคุณจะเป็นตาแก่ที่มีชีวิตอยู่ในถ้ำ แต่การตามเทรนด์ต้องมีปัญญาและความเข้าใจด้วย สมมติคุณเห็นหนังผีประสบความสำเร็จแล้วอยากทำตาม ซึ่งก็ทำได้ แต่คุณต้องมีปัญญาและความเข้าใจหนังผีเป็นอย่างดี ถ้าคุณไม่มีความเข้าใจก็จบ คุณจะกลายเป็นคนบ้าและดูเหมือนตัวตลกเท่านั้นเอง


เราต้องปลูกฝังเรื่องแบบนี้กันต้องแต่เด็กๆ เลยใช่ไหม

เราไม่เชื่ออย่างนั้น เพราะเราคิดว่าเด็กสอนไม่ยาก เป็นผ้าขาวที่ใส่อะไรเข้าไปก็ได้ แต่เป็นพวกแก่ๆ นี่แหละที่ต้องเอาไปดัดสันดานใหม่ เพราะพวกแก่ๆ เป็นคนกุมอำนาจของสังคม ก็ลองดูสิว่าคนกุมอำนาจสังคมตอนนี้โอเคแล้วไหมล่ะ ถ้าเราอยากให้ประเทศนี้เป็นแบบไหน ก็ต้องไปดัดสันดานพวกคนแก่ๆ จะมารอให้ตายกันหมดแล้วค่อยเปลี่ยนไม่ได้ คนพวกนี้ไม่มีตาย เพราะจะเกิดการส่งต่อความคิดแบบนี้ให้ลูกให้หลานกันไปเรื่อยๆ แต่บางเรื่องก็ต้องปลูกฝังกันตั้งแต่เด็กๆ อย่างเรื่องศิลปะ เพราะเป็นวิชาที่ดีแน่นอน เราต้องไม่สับสนว่าเรียนศิลปะแล้วต้องเป็นศิลปิน แต่วิชาศิลปะสอนให้คนรู้จักตัวเอง สอนให้มีรสนิยมที่ดีและอ่อนโยน ถ้าคุณเรียนศิลปะตั้งแต่เด็ก เมื่อคุณโตขึ้นไปเป็นหมอฟัน คุณก็จะเป็นหมอฟันที่อ่อนโยนและนุ่มนวล หรือถ้าคุณเป็นนักการเมือง คุณก็จะเป็นนักการเมืองที่ดี แล้วก็จะไม่ต้องมานั่งบอกว่าทุกสิ่งที่เกี่ยวกับศิลปะเปลืองงบประมาณ ไม่เอา ไม่สร้าง ไม่ทำ เราไม่เข้าใจว่าอะไรที่ทำให้เรือดำน้ำสำคัญกว่าศิลปะ ถ้าเป็นสมัยที่ประเทศไทยยังเป็นประเทศยากจนอยู่ ตอนนั้นเข้าใจได้ว่ามีเรื่องอื่นที่จำเป็นกว่าศิลปะ แต่ยุคนี้ไม่ใช่แล้ว ประเทศเราไม่ได้จนเลย


เป็นสถานการณ์ที่ไม่ค่อยมีความหวังเท่าไหร่เลยนะ

ไม่หรอก ประเทศเราก็ยังก้าวหน้าไปอยู่ตลอดนะ โดยเฉพาะทางด้านความคิดของคนก้าวหน้าขึ้นมาก เพียงแต่ช้าไปหน่อย สมมติว่าถ้าเรายังก้าวหน้ากันในระดับเท่าเดิมแบบนี้ ยังไงเราก็จะได้เห็นความเจริญรุ่งเรืองแน่นอน ซึ่งเราจะได้เห็นกันตอนกลับมาเกิดรอบที่ 3 พอดี คิดได้แบบนั้นแล้วก็โอเค รอต่อไป


ไม่มีทางลัดสู่ความรุ่งเรืองเลยเหรอ

อย่าคิดว่าทางลัดหรือการเร่งความเร็วจะดีนะ การพัฒนาสังคมต้องเป็นไปตามความเข้าใจของคนในสังคมด้วย ถ้าพัฒนาเร็วเกินไปก็จะขาดความเข้าใจ จำเหตุการณ์ตอนต้มยำกุ้งได้หรือเปล่า ตอนนั้นประเทศเราติดเทอร์โบมาก กลายเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชียเลยนะ แต่ความเร็วที่ไม่มีความเข้าใจด้วย ก็ทำให้เจ้าของกิจการหลายคนล้มจนกันเกือบหมด ประเทศที่เจริญแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะพัฒนาทางความคิดกันได้ใน 1-2 วัน เพราะเขาก็ผ่านช่วงเวลาคล้ายๆ กันกับเรามาก่อน เพียงแต่ของเขาเกิดขึ้นเร็วกว่าเราสัก 200 ปีได้มั้ง หรืออย่างวงการหนังก็เคยยุคหนึ่งที่เร่งทำกันเยอะมาก ถึงขนาดีนายทุนต้องไปให้เด็กจบใหม่ทำหนัง แต่ให้งบมาแบบ 6 ล้านบาทจะได้ทำออกมาได้หลายเรื่อง ซึ่งผลลัพธ์ก็รู้ๆ กันอยู่ว่าจะจบยังไง หนังออกมาแย่ ได้เงินแค่เรือนแสน หนังจบไปหนึ่งเรื่องก็มีศพคนทำกองอยู่เต็มไปหมด สรุปแล้วไม่มีอะไรดีสักอย่าง


คุณคิดว่าจะมีวันที่อุตสาหกรรมหนังไทยจะเติบโตอีกครั้งไหม

ต้องใช้เวลาอีกนาน แต่ส่วนตัวเราคิดว่าอุตสาหกรรมหนังไทยไม่ควรจะโตมาก เพราะตอนนี้บุคลากรที่ดีจริงๆ มีจำนวนจำกัด ดังนั้นการที่มีหนังไทยออกมาปีละ 60 เรื่องจึงเยอะเกินไปหน่อย ถ้าให้ดีควรจะมีสัก 20 เรื่องต่อปี เอาเงินที่ใช้ลงทุนกับหนัง 60 เรื่องมาทำให้เป็น 20 เรื่องดีกว่า เราว่าทำแบบนี้แล้วคุณภาพของหนังจะดีขึ้น แค่นั้นคนก็ไม่ด่าหนังไทยแล้ว แต่จะกลายเป็นหนังไทยดีขึ้น จากนั้นคนก็จะหันมาดูหนังไทยและหนังก็ไม่เจ๊ง สมมติว่าในหนัง 20 เรื่องนี้มีแค่ 2 เรื่องที่เจ๊ง ภาพรวมก็ยังดูดีเหมือนเดิม จำนวนเงินที่ได้กลับมาก็ค่อยเอาไปผลิตบุคลากรเข้าสู่อุตสาหกรรม 5 ปีผ่านไปค่อยเพิ่มเป็นทำหนังปีละ 30 เรื่อง ค่อยเป็นค่อยไปกันดีกว่า