Editor’s Talk – วันเด็กของผู้ใหญ่

เชื่อแน่ว่าวันเด็กที่กำลังจะถึงนี้คงมีตารางงานอีเวนต์ออกมาหมดแล้วว่าสถานที่ใดจะจัดงานวันเด็กในแบบไหนบ้าง ไม่พ้นการเปิดห้องทำงานนายกรัฐมนตรีในทำเนียบรัฐบาลเพื่อให้เด็กๆ ไปนั่งบนเก้าอี้ทำงาน หรือปีนโต๊ะของนายกฯ เล่นถ่ายรูปกัน และกองทัพบกเปิดให้เด็กๆ ได้ปีนป่ายถ่ายรูปกับรถถัง ลองจับปืนหรืออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ฯลฯ 

นั่นคือสิ่งที่เด็กๆ ต้องการจริงไหม? หรือใช่สถานที่ที่เด็กๆ อยากจะไปจริงๆ หรือเปล่า? หรือเป็นสิ่งที่พ่อแม่ ‘คิดเอาเอง’ ว่าวันเด็กเราควรต้องพาเด็กไปเที่ยวที่ไหนสักแห่ง 

เพราะสิ่งเหล่านี้มันสะท้อนมาให้เห็นตั้งแต่เรื่องของ ‘คำขวัญวันเด็ก’ ในแต่ละปีที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ส่งมอบให้ ทั้งที่คำขวัญนั้นไม่มีอะไรเกี่ยวกับความเป็นเด็กเลยสักนิด แต่เป็นเพียงมโนทัศน์ของผู้ใหญ่ (อาจจะแค่คนหรือสองคน) หรือแม้กระทั่งของรัฐ ที่ต้องการ ‘บัญญัติ’ ให้สังคมรับรู้ว่าเยาวชนควรจะเป็นเช่นไร ควรทำอะไร ไปตามที่ตัวเองรู้สึกนึกคิด จนกลายเป็นขนบและการสร้างวาทกรรมที่เรียกว่า ‘คำขวัญวันเด็ก’ ขึ้นมา 

ซึ่งสุดท้ายมันก็จะเป็นได้แค่คำขวัญที่เด็กๆ (อาจจะ) จดจำได้เพียงหนึ่งวันเพื่อเอาไว้ตอบปัญหาชิงรางวัลในวันเด็กเท่านั้นเอง แต่ไม่มีหรอกการวัดผล หรือแผนการพัฒนาเพื่อที่จะนำเด็กไปสู่เป้าประสงค์ตามคำขวัญวันเด็ก สุดท้ายวันเด็กจึงเป็นเหมือนงานปาหี่วันหนึ่งที่หน่วยงานต่างๆ ต้องวุ่นวายจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น โรงพยาบาล นอกจากจะต้องดูแลรักษาคนไข้แล้ว ยังต้องแบ่งพนักงานมาจัดงานวันเด็กก็มี (ตอนเด็กผมเคยไปงานวันเด็กที่โรงพยาบาลมาแล้ว) ส่วนราชการต่างๆ ก็ต้องจัดสรรงบฯ ไว้เพื่อจัดงานวันเด็ก พ่อแม่แทนที่จะได้พักผ่อนในวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม ก็ต้องกระเตงลูกๆ เบียดเสียดคนมหาศาลเพื่อพาลูกไปเที่ยวงานวันเด็กตามค่านิยม

เด็กๆ ซึ่งอาจจะไม่รู้เรื่องอะไรเลย ดีไม่ดีจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าช่วงเด็กในวันเด็กไปเที่ยวที่ไหนมาบ้างแล้วสนุกอย่างไร และจริงๆ แล้ววันเด็กมันคือวันอะไรกันแน่ 

ตามประวัติศาสตร์ (วิกิพีเดีย) วันเด็กแต่แรกเริ่มคือวันอาทิตย์ที่สองของเดือนมิถุนายน กำหนดขึ้นเพื่อสดุดี Dr.Charles Leonard ผู้ที่อุทิศตัวในการช่วยเหลือเด็ก จากนั้นเป็นต้นมา ความหมายของวันเด็กทั่วโลกคือการสร้างความรับรู้เกี่ยวกับสิทธิของเด็ก ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กทั่วโลก ทั้งในเรื่องของการทารุณกรรมเด็ก แรงงานเด็ก เด็กเร่ร่อน เด็กไร้การศึกษา ฯลฯ โดยการพาเด็กๆ ไปเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ ไปสัมผัสว่าในอีกซีกโลกหนึ่งหรือในสังคมหนึ่งยังมีมนุษย์ที่อายุเท่ากันกับพวกเขา แต่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างจากพวกเขามากนัก

  แน่นอนว่ามันฟังดูหดหู่มากกว่าจะเป็นงานร่าเริงสนุกสนานเหมือนวันเด็กที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ว่าเป็นเพราะอย่างนี้หรือเปล่าที่วันเด็กในบ้านเราจึงเป็นวันเด็กที่ไร้ความหมายใดๆ ทั้งในแง่จุดกำเนิดของวันเด็ก ไร้ความหมายต่อสังคมในแบบที่ควรจะเป็น และสุดท้ายมันไร้ความหมายต่อเด็กที่อย่างน้อย-ก็น่าจะเป็นวันหนึ่งที่เป็นวันของพวกเขา ให้มีโอกาสได้รับการปลูกฝังในเรื่องที่มีคุณค่า เผื่อจะเร้นอยู่ในจิตสำนึก และต่อยอดสู่การสร้างโลกและสังคมที่ดีในอนาคตเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น 

มันควรจะมีความหมายมากกว่าการไปปีนนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ในโมเมนต์ที่เราทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสุดท้ายแล้ว เก้าอี้ตัวนั้น—นอกจากเด็กๆ ที่จะได้ไปลองนั่งชั่วคราวในวันเด็กแล้ว คนที่จะไปนั่งตามตำแหน่งหน้าที่สมควรต้องเป็นใคร มีความเป็นมาอย่างไร หรือมาถึงเก้าอี้ตัวนี้ด้วยกติกาแบบไหน


สันติชัย อาภรณ์ศรี

บรรณาธิการบริหาร