"แฟม-ศิรดา ตานะเป็ง" คือเด็กสาวชาวเชียงใหม่ที่ผ่านบทบาทการแสดงซีรีส์เรื่อง มิติรักผ่านเลนส์ ตอน รุ้งสีเทา (2559) และผลงานโฆษณาหลากหลายชิ้น แต่ในวันนี้เรามีโอกาสรู้จักกับเธอในฐานะนักแสดงหน้าใหม่ที่ปรากฎตัวอยู่ในภาพยนตร์สั้นเรื่อง i STORIES ตอน “L” จากฝีมือผู้กำกับไฟแรงอย่างบาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ กับบทบาท “ไอ” ที่จะมาถ่ายทอดเรื่องราวความรักไม่จำกัดเพศให้เข้าใจ

บทบาทรักข้ามเพศ
เรื่องนี้รับบทเป็น “ไอ” ผู้ช่วยผู้กำกับมือใหม่ที่ไม่ค่อยรู้หน้าที่ของตัวเองสักเท่าไหร่ ในเรื่องเราต้องดีลกับนักแสดง ซึ่งคือต้าเหนิง (กัญญาวีร์ สองเมือง) ในเรื่องกับตัวจริงก็คล้ายกัน ต่างกันตรงความรู้สึกที่ชอบผู้หญิง เพราะส่วนตัวแฟมชอบผู้ชาย บางทีต้องเปลี่ยนสายตาวิธีมอง เปลี่ยนความคิดที่ต่างจากตัวจริงอยู่บ้าง ในเรื่องเราชอบต้าเหนิง รู้สึกปลื้มมาตั้งแต่แรกแล้ว
บทนี้เป็นบทบาทที่แปลกที่สุดสำหรับเรา ฉีกแนวไปเลย เป็นครั้งแรกที่ได้เล่นฉากเลิฟซีน และต้องเปลี่ยนคาแร็กเตอร์ของตัวเอง
เคยมีประสบการณ์หญิงรักหญิงมาก่อนหรือเปล่า
มีนะ เมื่อก่อนตอนเด็กๆ เราเคยปลื้มรุ่นพี่ที่เป็นทอมคนนึง แต่ถ้าเป็นตอนนี้เราจะชอบดาราศิลปินผู้หญิงมากกว่า ไม่ได้คิดไปมากกว่านี้ค่ะ
แฟมเป็นเด็กที่เติบโตมาแบบไหน
เราไม่เชิงเป็นคนกล้าแสดงออกหรือขี้อาย แต่จะเป็นคนเข้ากับคนอื่นได้เร็ว ยิ้มง่าย เป็นเด็กที่โตมาในกรอบพอสมควร เพราะคุณพ่อเป็นอาจารย์ เราก็จะอยู่ในกรอบ ต้องเป็นแบบนี้ แต่ก็ไม่ได้ต้องโฟกัสว่าต้องทำดีให้ได้มากที่สุด เขามีสิทธิให้เราเลือกที่จะใช้ชีวิตเอง ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องขอออกไปเที่ยวกับเพื่อนมากกว่า จนบางทีรู้สึกว่าทำไมเพื่อนถึงไปเที่ยวกันตามห้างสรรพสินค้าได้ แต่ทำไมเราถึงโดนว่า เราเคยไปดูหนังกับเพื่อน แล้วคุณพ่อโทรมาหาว่าทำไมยังไม่กลับบ้าน ทำไมอายุแค่นี้ถึงไปดูหนัง
เวลามีปัญหาเลือกปรึกษาใคร
ไม่ได้ปรึกษาใคร เราไม่อยากให้คนในครอบครัวรู้ว่าเรารับบทเป็นอะไร เรื่องเป็นมายังไง เราอยากให้เขามาดูผลงานของเรา เรากล้าบอกนะว่ารับบทอะไร แต่อยากรู้ว่าพวกเขารู้สึกอินกับบทบาทของเรามากแค่ไหนมากกว่า
สำรวจความหมายของ LGBT จากคนในครอบครัว
ทุกเพศรักกันได้ค่ะ แต่ในสังคมไทยบางเพศยังไม่ค่อยเปิดรับเท่าไหร่ เวลาเห็นผู้ชายกับผู้ชายที่เป็นคู่รักเดินมาด้วยกันก็อาจจะมีสายตาแปลกๆ ตั้งแต่ตอน ม.2 แฟมจะไม่ได้อยู่บ้านกับพ่อแม่ แต่เข้ามาอยู่บ้านในเมืองกับพี่สาว แฟมสนิทกับพี่สาวมาก พี่ของแฟมเขาเป็นทอม สนิทกันจนเวลาไปไหนมาไหนสองคน คนจะคิดว่าเป็นแฟนกันหรือเปล่า เราก็มองพี่เราว่าเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง ถ้าเขารักใครเราก็ขอให้เขามีความสุข เห็นด้วยกับเขา
ถ้าคนในครอบครัวอยู่ในกลุ่ม LGBT และไม่ได้รับการยอมรับ จากเดิมที่รู้สึกอึดอัดในใจอยู่แล้ว ยิ่งไปห้ามก็อาจจะทำให้เขาไปในทางที่ไม่ดี ถ้าเรายอมรับเขาตั้งแต่แรก เราอาจแนะนำเขาในทางที่ดีได้ แต่ถ้าเราไม่เข้าใจเขา ก็ไม่รู้ว่าเขาจะไปปรึกษาใคร มีคนอื่นแนะนำในทางไหน แฟมว่ามันดูน่ากลัวสำหรับคนที่สับสน ไม่รู้ว่าชีวิตจะเดินไปทางไหนดี

เคยตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่าทำไมพี่สาวของเราถึงมีลักษณะท่าทางเหมือนผู้ชาย
เราเคยสงสัยว่าพี่เริ่มเป็นแบบนี้เมื่อไหร่ แต่ไม่ได้สงสัยว่าทำไมพี่ถึงเป็นแบบนี้ เราอยู่กับพี่ตลอด ตอนเด็กๆ เขาก็เคยเป็นผู้หญิงน่ารักๆ แต่งหน้า ถือป้ายขบวนพาเหรดตอนเรียน เหมือนเป็นผู้หญิงห้าวมากกว่า แต่การแต่งตัวก็จะเหมือนผู้ชาย
พี่เคยมาปรึกษาว่ามีผู้ชายมาจีบจะทำยังไงดี เราก็ถามเขาว่าทำไมไม่ชอบล่ะ เขาบอกว่าไม่เอา กลัว รู้สึกแปลกๆ
แล้วแอบหวังให้พี่สาวกลับมาเป็นผู้หญิงไหม
ก็แอบหวังนะ ด้วยความที่พี่เขาไม่ใช่คนที่พูดครับหรือฮะขนาดนั้น เราก็เคยคิดว่าเขาอาจกลับมาเป็นผู้หญิงได้เหมือนกัน ทั้งที่ตอนนี้น่าจะยากแล้วล่ะ เราเป็นห่วงพี่มากกว่ากับการหาคนที่จะอยู่เคียงข้างต่อไปในอนาคต ถ้าไม่มีเราหรือครอบครัว เขาจะอยู่กับใคร
คำพูดไหนที่ฟังแล้วรู้สึกกระทบจิตใจที่สุด
น่าจะเป็นคำว่ากระแดะ หรือไม่ก็บ้าผู้ชาย ซึ่งเราก็คิดว่า ทำไมจะให้เราบ้าผู้หญิงเหรอ เราชอบผู้ชายก็ต้องบ้าผู้ชายสิ
ระดับไหนที่เรียกว่าบ้าผู้ชายจริงๆ
ชื่นชมเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้ามากจริงๆ คงถึงขั้นที่ว่าเขาเช็กอิน อยู่ที่ไหนก็จะตามไป อยากเจอในทุกๆ โอกาส
มุมมองของความรัก
เวลาเจอคนที่ชอบ เราไม่ค่อยชอบทักแชตไปหาก่อน เพราะดูเหมือนเข้าหามากไป แฟมคิดว่าการเจอแล้วทักกันมาน่ะโอเคกว่าที่จะไม่เคยเจอกันแล้วทัก แฟมไม่กล้าจีบก่อน ชอบให้ผู้ชายเข้าหาเราก่อนมากกว่า หนึ่งคือทำให้เรามั่นใจว่าเขาชอบเราจริงๆ บางทีเราเข้าหาก่อน เราไม่อยากจะหวังอะไรกับเขามาก แล้วจะเป็นยังไงต่อจากนี้ เราเป็นคนจริงจังกับความสัมพันธ์ระดับหนึ่ง เรากลัวการผิดหวัง ชอบคิดว่าในวันหนึ่งถ้ามีปัญหากันขึ้นมา เขาอาจจะไปจากเรา พอเป็นแบบนี้ก็เลยเป็นนักวางแผน ต้องดูเชิงก่อน พยายามให้ฝ่ายตรงข้ามแสดงความรู้สึกออกมาก่อน
อะไรคือสิ่งที่คนดูจะได้จากภาพยนตร์สั้นเรื่อง i STORIES
ทุกคนจะมีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองเลือกค่ะ และเป็นตัวเองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ตามค่ะ
พบกับ"แม้ว-กิตติกานต์ อ่วมนุ่ม"อีกหนึ่งนักแสดงหน้าใหม่จากภาพยนตร์สั้นในโปรเจ็กต์ i STORIES ตอน “G” ถ่ายทอดเรื่องราวมิตรภาพในกลุ่มเพื่อน LGBT นำเสนอภาพลักษณ์ของเกย์ในอีกรูปแบบ ที่ไม่ได้ถูกจำกัดไว้แค่ความรักใสๆ วัยมัธยมฯ ขาสั้น โดยได้บอส-นฤเบศ ภูโน นักเขียนบทและผู้กำกับไฟแรงมาเป็นผู้สร้างสรรค์

เป็นยังไงบ้างกับผลงานการแสดงเต็มตัวครั้งแรก
ยากมากครับ มันเป็นบทที่ไกลตัวผมมาก อีกอย่างพี่บอส ผู้กำกับ อยากได้ตัวละครที่มีลักษณะออกสาว เป็นเกย์ในกลุ่มเพื่อนเกย์ แล้วผมก็เป็นผู้ชายมีแอบกดดัน ร้องไห้บ้างในช่วง
เวิร์กช็อป เหมือนเราทำการบ้านไม่เพียงพอด้วย
หลังจากรับบทเกย์ไปแล้ว ในฐานะที่เราเป็นผู้ชาย มองว่าเกย์กับผู้ชายแตกต่างกันยังไง
ผมว่าเกย์จะละเอียดอ่อนกว่าผู้ชาย แต่ไม่เหมือนผู้หญิงนะ มันคนละความรู้สึกกัน เกย์จะจุกจิก อะไรนิดหน่อยๆ ก็เอา
ในซีรีส์มีฉากเลิฟซีนบ้างมั้ย
มีครับ 2 ฉากใหญ่ๆ
หนักใจมั้ย
จริงๆ ผมก็อึดอัดนะ แต่ก็คิดว่าเป็นเรื่องการแสดง ผมก็ทำให้เต็มที่ที่สุดครับ และมันก็เป็นซีนอารมณ์ด้วย ถ้าผมเล่นไม่สุด เล่นไม่ถึง มันก็ดูตลก ผลงานก็ออกมาไม่ดี
กลัวคนติดภาพลักษณ์ของการเป็นเกย์รึเปล่า
ตอนแรกก็กลัวนิดๆ นะ ผลงานก่อนหน้านี้ผมก็รับบทเกย์ พอมาเรื่องนี้ก็เกย์อีก แต่ผมก็ตัดสินใจว่าเอาก็ได้วะ ลองอีกครั้งนึง จะได้ก้าวข้ามขีดจำกัดทางการแสดงของตัวเองไปอีก
รับบทเกย์แล้ว มีความคิดแวบเข้ามาบ้างมั้ยว่าเราอาจจะเป็นเกย์รึเปล่า
ไม่มีเลยครับ
ที่โรงเรียนเคยมีเพื่อนเป็นเกย์มั้ย
ไม่มีนะครับ ถ้าไม่ผู้ชายผู้หญิงไปเลย ก็จะมีตุ๊ด บางครั้งผมยังแยกไม่ค่อยออกเลยว่าเกย์ ตุ๊ด กะเทย ต่างกันยังไง จริงๆ ผมแอบกลัวตุ๊ด กะเทยอยู่นะ เมื่อก่อนผมเคยโดนกะเทยแซวบ่อยมาก แซวจนผมเสียหลักเลย ผมเป็นคนขี้อายด้วย เหมือนมีปม เขาจะแซวประมาณว่า “น้องๆ จะไปไหน ไปกับพี่เปล่า” อารมณ์เหมือนผมไปแซวสาวอย่างนั้นเลย น่าจะเวรกรรมตามทัน
เคยเจอมากกว่าการแซวด้วยคำพูดมั้ย
ในที่สาธารณะไม่เคยครับ แต่ในที่เที่ยวนี่หลายรอบเลย เขาก็มาจับๆ จนผมรำคาญ ผมเลยกระชากคอเสื้อเลย

เคยโดนล้อว่าเป็นเกย์เป็นตุ๊ดบ้างมั้ย แล้วเราจัดการยังไง
เคยครับ บ่อยเลย ก็บอกตรงๆ เลยว่าไม่ได้เป็นครับ ผมเป็นผู้ชาย ถ้าไม่เชื่อก็ลองได้ ถ้ามาในเชิงคำถาม ผมโอเคนะ แต่ถ้ามาในเชิงล้อเลียน ผมก็จะอ้าว ล้อทำไม ถามกันดีๆ ก็ได้ ผู้ชายเรียบร้อย นิ่งๆ ขี้อายก็มีปะ อะไรปล่อยได้ผมก็ปล่อย
ที่บ้านเลี้ยงดูเรามายังไงบ้าง
ก็ค่อนข้างเข้มงวดนะครับ อยากได้อะไรพ่อแม่ก็จะไม่ค่อยให้ อยากได้อะไรก็ต้องหาเอาเอง ก็ถามตัวเองว่าทำไมเราไม่ได้เหมือนคนอื่น แอบน้อยใจนะ แอบไปร้องไห้ ทำไมถึงไม่ซื้อให้ ผมมีน้องชายคนหนึ่ง การเลี้ยงดูเหมือนกันเลยคือไม่มีการสปอยล์ ส่วนใหญ่ผมก็จะแบ่งของที่ใช้ให้น้องใช้ต่อ
ถ้าน้องชายเป็นเกย์จะทำยังไง
ก็ปล่อยไปตามธรรมชาติครับ มันเป็นเรื่องปกตินะ อยู่ที่พ่อแม่ด้วย ถ้าพ่อแม่โอเค คนในครอบครัวโอเคก็พอแล้วส่วนตัวน้องผมก็เป็นคนเก็บตัว แอบเป็นห่วงเค้าเหมือนกันนะ
ถ้าครอบครัวมีลูกเป็น LGBT เรามีความเห็นว่ายังไง
ผมว่าเราควรส่งเสริมนะ อย่างผม ถ้าผมเป็นจริงๆ ผมก็บอกนะ ถ้าครอบครัวแฮปปี้ ผมก็สบายใจไปเยอะแล้ว ถ้าครอบครัวไม่โอเค ผมก็คงอยู่ยาก
เพศทางเลือกก็เหมือนผู้ชายผู้หญิงแหละครับ ผมก็เลือกไม่ได้ว่าผมจะเกิดเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง เค้าเกิดมาก็เลือกไม่ได้เหมือนกัน แต่ไม่มีใครเกิดมาแล้วอยากเจอคำด่าหรือคำติ
มุมมองความรักของแม้วเป็นอย่างไร
ผมให้น้ำหนักกับเรื่องความเชื่อใจของกันและกัน ผมมีอะไรผมให้แฟนได้หมดเลยนะ ไม่คาดหวังด้วย อะไรที่ให้ได้ผมก็จะให้ แต่ไม่ถึงกับสายเปย์นะ
แล้วมุมมองในเรื่องเซ็กส์ล่ะ
เป็นเรื่องความยินยอมและความพร้อมของทั้งสองฝ่ายผมให้เป็นการตัดสินใจของทั้งคู่ คงไม่มีการบังคับกัน
คิดยังไงกับการแสดงออกทางความรักในที่สาธารณะ
มันเป็นเรื่องของวัฒนธรรม เมื่อก่อนอาจดูไม่เหมาะสม ตอนนี้ผมมองว่ามันค่อนข้างเปิดกว้างขึ้น ผมก็เดินจับมือแฟนในที่สาธารณะเหมือนกัน แต่ถ้ากอดจูบอันนี้อาจจะมากไป
แล้วรู้สึกยังไงถ้าเห็น LGBT แสดงออกทางความรักในที่สาธารณะ
มันเป็นสิ่งที่สวยงามและได้รับการยอมรับมากขึ้น รู้สึกเขินแทนเค้า ยิ่งเป็นคู่เลสเบี้ยนผมยิ่งเขิน บางทีผมยังแยกไม่ออกเลยว่าคู่ไหนเป็นเพื่อนกัน คู่ไหนเป็นแฟนกัน
แม้วมีวิธีในการจีบผู้หญิงยังไงบ้าง
ผมเป็นคนขี้อาย ก็เลยใช้วิธีแชต ผมเป็นนักเลงคีย์บอร์ด ถ้าเจอแล้วชอบก็จะไปหาไอจี เฟซบุ๊กก่อน แล้วค่อยทักไป
การจีบในเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมที่ได้ผลดีกว่ากัน
คนละแบบครับ ในเฟซบุ๊กก็จะส่ง Hello โบกมือไปก่อนเพื่อลองเชิง แต่ถ้าเป็นในอินสตาแกรมก็ไลก์รัวๆ เลย ไม่ผมก็เค้าซักฝ่ายต้องทักมา มีครั้งหนึ่งผมเคยทักเขาย้ำๆ ทั้งที่รู้ว่าเขาไม่น่าจะตอบเราแล้ว ก็แห้วไปตามระเบียบ ถ้าคนมันชอบนะ ยังไงก็ตอบก็คุย เนี่ยบางครั้งบอกผมว่าอาบน้ำ อาบนานจัง 3 วันแล้วยังไม่ตอบผมเลย
หลังจากได้รับบทเป็นเกย์แล้ว อยากสื่อสารอะไรให้คนดู ได้รู้จักกับสังคม LGBT มากขึ้น
เกย์ก็เหมือนผู้ชายผู้หญิงนี่แหละครับ เราอยู่ร่วมกันในสังคม ผมไม่เห็นด้วยกับการไปแอนตี้หรือล้อเลียนพวกเค้าเลย เราแค่อาจจะยังเข้าใจเค้าไม่มากพอ+
“ไอ” ตัวละครจากภาพยนตร์สั้น i STORIES ตอน “B” นำแสดงโดย “จุงโกะ-ชนกชนม์ ซิมงาม” เกิดลังเลในความสัมพันธ์ของตัวเองกับแฟนสาวหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เธอดันไปรู้สึกพิเศษกับผู้ชายคนหนึ่ง จนทำให้เธอต้องตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง ในทางกลับกันจุงโกะเล่าให้เราฟังว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาเธอไม่เคยลังเลเวลาที่จะตัดสินใจทำอะไรเลยแม้แต่ครั้งเดียว เพราะเธอคิดว่าทุกสิ่งที่เธอตัดสินใจเลือกไปแล้วคือสิ่งที่ดีที่สุด สำหรับเธอเสมอ

นี่คือการแสดงครั้งแรกเลยใช่ไหม
ก็ไม่เชิงครับ เคยแสดงละครเวทีมาบ้าง ทำหนังกับเพื่อนบ้าง ก็พอเคยผ่านการแสดงมาบ้างครับ
การแสดงละครเวทีต่างกับการแสดงหนังมากไหม
โห มากเลยครับ เล่นละครเวทีมันต้องใช้ร่างกายเยอะ เราต้องเล่นให้ใหญ่เพื่อให้คนดูแถวหลังสุดเห็น พอมาเล่นภาพยนตร์ก็ต้องปรับต้องลดลงเยอะครับ ตอนเวิร์กช็อปการแสดงครูก็บอกให้ลดลงบ้าง เล่นใหญ่ไป (หัวเราะ)
ในเรื่องต้องจูบกับพี่โทนี่ รากแก่น ด้วย เขินไหม
เขินครับ จริงๆ กังวลด้วย กลัวทำออกมาได้ไม่ดี กลัวทำให้คนในกองเสียเวลา แต่สุดท้ายก็ทำออกมาได้ครับ
ในชีวิตจริงเคยจูบกับผู้ชายรึเปล่า
ถ้าจูบด้วยความรู้สึกพิเศษไม่เคยครับ แต่ถ้าจูบเล่นๆ เคย เวลาเล่นกับเพื่อนผู้ชาย
แล้วเคยถามผู้ชายไหมว่ารู้สึกอย่างไร
ไม่ครับ ไม่เคยถามเลย คือจริงๆ มันเป็นการแกล้งเล่นกันมากกว่า แต่ก็ต้องสนิทกันระดับนึงด้วยนะ (หัวเราะ)
เป็นคนบุคลิกแมนๆ ห้าวๆ แบบนี้มาตั้งแต่เด็กเลยรึเปล่า
ครับ แม่ก็บอกว่าเป็นแบบนี้ตั้งแต่เด็กเลย อาจเป็นเพราะตอนเด็กๆ เราอยู่กับพ่อเยอะมั้ง แต่จุงก็ไม่ได้เป็นคนสายลุยขนาดนั้นนะ จริงๆ นิสัยพ่อบ้านมาก ชอบกวาดบ้าน ถูบ้าน เลี้ยงแมว ปลูกต้นไม้ ทำอาหาร
เคยโดนว่าอะไรไหมจากการที่บุคลิกเราเป็นแบบนี้
บ่อยนะ โดนคนบอกว่า wanna be ประมาณว่าอยากเป็นผู้ชายหรือถึงได้พูดครับ แต่เราก็ไม่ได้สนใจ จุงพูดคำว่าผม, ฮะ, ครับ กับแม่แบบนี้มาตั้งแต่เด็ก พูดก่อนที่เราจะรู้ว่าเราเป็นอะไรด้วยซ้ำ คนที่บ้านก็ไม่ได้ว่าอะไร ทำไมเราจะต้องไปสนใจคนอื่นด้วย
แล้วชอบหรือไม่ชอบกับการที่คนเรียกเราว่า “ทอม”
ไม่ชอบครับ ไม่ชอบเลย เพราะเรามองตัวเองว่าเราไม่ใช่ทอมนะ และเราก็ไม่ใช่ผู้หญิงด้วย ถ้ายึดจากอัตลักษณ์ทางเพศของเรา เราถือว่าเราเป็นผู้ชาย แต่ถ้ายึดตามเพศสภาพกำเนิดแล้วเราคือผู้หญิง เวลามีคนมาถามเพศเรา เราก็จะถามเขากลับว่าอยากได้เพศแบบไหน เพศกำเนิดหรือเพศสภาพทางจิตใจตอนนี้

ในอนาคตถ้ามีโอกาส เคยคิดเรื่องแปลงเพศเป็นผู้ชายไหม
เคยครับ ตอนนี้ก็ยังคิดอยู่ แต่ก็คิดกลับไปกลับมา เพราะการแปลงเพศมันมีผลกระทบหลายด้าน ต้องเตรียมความพร้อมหลายส่วน ต้องค่อยๆ ศึกษาไปครับ
มาถึงเรื่องความรักบ้าง เคยมีแฟนไหม
เคยครับ แต่ตอนนี้ไม่มีนะ (หัวเราะ)
แฟนเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย
ผู้หญิงครับ
เคยชอบผู้ชายไหม
ไม่เคยครับ ไม่เคยเลย ตั้งแต่เกิดมาก็ยังไม่เคยชอบผู้ชายเลย แล้วก็ไม่เคยมีผู้ชายมาจีบด้วยไม่รู้ทำไม (หัวเราะ) จริงๆ จุงไม่ได้ปิดตัวเองนะ จุงชอบเพศไหนก็ได้ ถ้าเรารู้สึกชอบใครสักคน ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นเพศอะไรก็ตาม คือเราไม่ได้ชอบคนที่เพศ เราชอบคนที่ความคิด
ถ้าวันหนึ่งมีผู้ชายมาจีบจะรับพิจารณาไหม
ก็ได้นะครับ ถ้าเขาเป็นคนที่ความคิดดี อย่างที่บอกคือเราชอบคนที่ความคิด ความคิดไม่จำเป็นต้องตรงกันก็ได้ แค่เราคุยกันเข้าใจกันก็พอ
เคยนึกภาพตัวเองมีแฟนเป็นผู้ชายไหม
เคยสิ บ่อยด้วย (หัวเราะ) แต่นึกภาพไม่ค่อยออกหรอก ยังเคยโพสต์ถามเพื่อนในเฟซบุ๊กอยู่เลยว่าถ้าเรามีแฟนเป็นผู้ชายจะเป็นยังไง ก็มีแต่คนบอกว่านึกภาพไม่ออก จริงๆ เราเคยชอบผู้ชายนะ เป็นเพื่อนกันนี่แหละ เขาเป็นผู้ชายที่มีทัศนคติกว้างดี เข้าใจอะไรเยอะ จนเรารู้สึกว่าผู้ชายคนนี้แม่งเจ๋งว่ะ แล้วเราก็ชอบเขา แต่เสียดายเขามีแฟนแล้วซึ่งตอนนี้เราก็กลายเป็นเพื่อนกัน
คิดยังไงกับเรื่องเพศและความรัก
จริงๆ ความรักมันไม่ใช่แค่ว่าผู้ชายต้องรักกับผู้หญิงเท่านั้นนะ แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเป็นชายชาย หญิงหญิง ทุกเพศ ทุกวัยสามารถมีความรักได้หมดเลย ซึ่งเราต้องแยกคำว่าเพศกับความรักออกจากกันให้ได้ก่อน เราถึงจะเข้าใจว่านอกเหนือจากเรื่องเพศแล้วความรักมันเป็นสิ่งที่สวยงาม
อยากทำอะไรนอกจากการแสดงบ้างมั้ย
อยากเปิดร้านสักกับร้านตัดผมครับ จุงเป็นคนชอบการเจาะ การสักร่างกาย แล้วก็ชอบตัดผมด้วย จุงมองว่ามันคือศิลปะ ซึ่งจุงคุยกับเพื่อนแล้วว่าถ้าเพื่อนเปิดร้านสัก เราก็จะเปิดร้านตัดผม ตอนนี้ก็กำลังศึกษาหาคอร์สเรียนตัดผมอย่างจริงจังอยู่ด้วยครับ