i STORIES – เปิดมุมมองของผู้กำกับ iSTORIES กับ LGBT

22.06.18 940 views

L – บาส นัฐวุฒิ พูนพิริยะ

บาสมองว่าเรื่องเพศสภาพ เรื่อง LGBT มันดีขึ้นแค่ไหนแล้วสำหรับคนไทยในปัจจุบัน

ผมว่าดีขึ้นเยอะมากเลย เอาจริงๆ ผมว่าเมืองไทยเป็นเมืองที่เปิดกว้างมาก จำได้ว่าตั้งแต่ผมเกิดและเติบโตมาก็มีญาติพี่น้องที่เป็น LGBT เหมือนกัน แล้วทุกคนก็โอเคกับสิ่งเหล่านั้น ไม่มีใครปฏิบัติไม่ดีกับพวกเขา สำหรับผมเป็นเรื่องธรรมดาสามัญมาก ตอนเรียนก็มีเพื่อนที่เป็นคนกลุ่มเหล่านี้เหมือนกัน ผมไม่เคยคิดเรื่องเหล่านั้นเลย ทุกคนก็คือเพื่อนผมคนนึง 

ถ้าย้อนกลับไปช่วงมัธยมฯ พอจะนึกออกไหมว่าปัญหาของคนกลุ่มนี้คืออะไร
 

ช่วง ม.ต้น ผมเรียนโรงเรียนชายล้วน ก็จะมีแก๊งเพื่อนสาว แล้วก็จะมีผู้ชายบางคนที่ชอบไปแกล้ง หรือบางครั้งผมก็สนุกตามเพื่อน มีแหย่ๆ บ้าง แต่พอเริ่มโตขึ้น เริ่มสนิทกับเค้ามากขึ้น ก็เริ่มเข้าใจหัวอก เข้าใจนิสัย สิ่งเหล่านั้นก็ค่อยๆ หายไป

แล้วปัญหาสำคัญในปัจจุบันที่คนกลุ่มนี้กำลังเผชิญล่ะ
 

สำหรับผม ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดสำหรับคนกลุ่มนี้จริงๆ คือเรื่องที่บ้านมากกว่า สมมติเราแทนค่าว่าเราทุกคนมีปัญหา อย่างจูนกับผมเคยมีปัญหาเรื่องโดนบูลลี่ โดนเพื่อนแกล้ง แต่วิธีการแก้ปัญหาของผมคือกลับมาที่บ้านแล้วคุยกับพ่อแม่ว่าเราจะรับมือกับสิ่งเหล่านี้ยังไง ถ้าพ่อแม่เข้าใจ เราก็ค่อยแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นผมเลยรู้สึกว่าถ้าเพศทางเลือกเหล่านี้เจอปัญหาจากสังคมภายนอก แต่พอเขากลับมาบ้านมาแล้วพ่อแม่ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น ทุกปัญหาก็จะแก้ไขได้แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่บ้านไม่ยอมรับตัวตนของเขา ผมว่านี่แหละคือปัญหาที่แท้จริง ผมเพิ่งทำงานเกี่ยวกับเพศทางเลือก แล้วก็เจอกับคุณพ่อที่เป็นทหาร เขาไม่ยอมรับลูกชายตัวเองที่อยากเป็น ผู้หญิง จนทะเลาะกันแล้วแยกกันอยู่ ผมรู้สึกว่านี่แหละคือปัญหาที่จริงจังยิ่งกว่าสิ่งที่เขาโดนกระทำจากโลกภายนอกเสียอีก

ตอนที่ได้โจทย์ L มา บาสตีความว่ายังไงบ้าง
 

ผมพยายามทำให้มันเป็นมากกว่าการทำหนัง อยากให้ไปไกลกว่านั้น คือถ้าใครดูหนังก็จะรู้ว่าสิ่งที่ผมพยายามทำและสื่อสารในหนังก็คือความลื่นไหลทางเพศมันสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในโลกของหนังที่ผู้กำกับแต่ละคนสร้างขึ้นมา และบางครั้งมันอาจจะตีความรวมถึงโลกแห่งความจริง ซึ่งความลื่นไหลทางเพศมันควรจะดำเนินไปทั้ง 2 โลกนี้ในเวลาเดียวกัน ก็เลยได้ไอเดียสร้างเป็นหนังซ้อนหนังขึ้นมา ประสบการณ์ที่ผมได้รับการจากทำหนังเรื่องนี้คือบางครั้งความรู้สึกของคนเรามันสามารถผลิบานสวยงามได้ โดยที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการคิดหรือกระบวนการตีกรอบใหญ่ในโลกนี้เลยก็ได้

คิดว่าเมื่อไหร่ที่วงการหนังหรือซีรีส์ของเมืองไทยจะก้าวไปอีกขั้นนึง โดยการสร้างงานที่เลิกโฟกัสเรื่องความสับสนทางเพศ

อยากให้ถึงวันนั้นมากเลยนะ พอทำเรื่องนี้สิ่งหนึ่งที่รู้สึกคือผมอยากพูดประเด็นนี้ต่อในแบบที่ไม่ต้องพูดถึงมัน ผมอยากทำหนังที่มันเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของคน 2 คนโดยที่เราไม่ตีตราว่านี่คือหนัง LGBT นี่คือหนังเกย์ นี่คือหนังเลสเบี้ยน นี่คือหนังชายรักชาย หญิงรักชาย หรือชายรักหญิงใดๆ คือมันเป็นแค่มนุษย์ 2 คนที่รู้สึกอะไรบางอย่างต่อกันรักกัน เกลียดกัน โกรธกัน งอนกัน ไม่พอใจกัน ขาดกันไม่ได้ อยากสร้างงานที่ถ่ายทอดความรู้สึกของมนุษย์ที่มีต่อกันและกันโดยที่ไม่ต้องแบ่งแยก ไม่ต้องจำกัดอะไรใดๆ หรือไม่ต้องมีเรื่องสมมติใดๆ


G – บอส-นฤเบศ กูโน

ถ้านึกย้อนไปตอนสมัยมัธยมฯ ตอนนั้นปัญหาเรื่องเพศสภาพของ LGBT คืออะไร

บอสมองว่าปัญหาช่วงนั้นคือใครที่เป็น LGBT จะให้พ่อ แม่ เพื่อน หรือคุณครูรู้ไม่ได้มีเพื่อนบอสคนหนึ่งถูกเรียกผู้ปกครองมา เค้าก็งงว่าอ้าว เรียกพ่อแม่เรามาทำไมเหรอ แล้วอยู่ดีๆ ครูก็บอกว่าขอโทษนะคะ ลูกคุณเป็นตุ๊ดค่ะ ปัญหาคือคุณครูบอกทำไม บางคนอาจจะอยากบอกด้วยตัวเอง หรือบางคนอาจจะยังไม่พร้อมที่จะให้พ่อแม่รู้ตอนนี้ก็ได้ สุดท้ายพอมีปัญหาแบบนี้ เด็กที่เป็น LGBT ก็จะถูกตีกรอบว่าต้องเก็บเป็นความลับบอกเพื่อนไม่ได้ เราต้องแอ๊บ 

ในหนังจะมีประโยคนึงที่บอกว่า “แกสาว” ช่วยอธิบายหน่อยได้มั้ยว่าหมายถึงอะไร
 

เท่าที่รีเสิร์ชมาคือปกติแล้วเกย์เค้าจะไม่เหมือนกะเทย กะเทยคืออยากแต่งหญิง แต่ถ้าเกย์คือเป็นผู้ชายที่ชอบผู้ชาย ถ้าใครโดนด่าว่าเป็นตุ๊ด เป็นสาว เป็นผู้หญิง ก็จะโกรธ เพราะจริงๆ เกย์คือผู้ชายที่ชอบผู้ชาย เพราะฉะนั้น “แกสาว“ มันเป็นคำเหยียดเป็นคำเจ็บๆ ในสังคมเกย์ ยกตัวอย่างเช่นมีคนนึงที่พิการแขนขาด แล้วเราไปเรียกเค้าว่าแขนกุด อะไรประมาณนั้น

มันมีระดับชั้นเหมือนกันใช่มั้ย
 

ถ้ามองกันจริงๆ แล้วก็จะเห็นว่ากลุ่มเกย์ถูกแบ่งแยกอย่างนั้นจริงๆ ถึงได้มีเกย์รุก เกย์รับ เกย์สาว เกย์ไม่สาว เกย์แมน เกย์ไม่แมน ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่จะจี๊ดกับคำนี้ก็คือเกย์ที่เป็นผู้ชาย พอเจอคำพูดที่ว่า “แกสาว” ก็จะโกรธ

ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน บอสมองว่าปัญหาของกลุ่ม LGBT คืออะไร
 

ถ้าเป็นเรื่องใกล้ตัวบอสนะ บอสว่าสมัยนี้ LGBT ปัญหาเริ่มน้อยแล้ว บอสรู้สึกว่าเริ่มเปิดกว้างมากขึ้นแล้ว ใครจะรักใครก็ได้ แต่บอสว่าปัญหาจะลงไปในดีเทลแทน เช่น พอใครจะรักใครก็ได้ก็จะเกิดการแย่งกัน อย่างในกลุ่มเกย์ ถ้าเป็นผู้ชายหน้าตาดีหน่อยก็จะมีหลายๆ มาคนชอบ มันก็จะเกิดปัญหา

ถ้ามองในภาพรวมแล้วเหตุการณ์นี้มันเกิดขึ้นบ่อยมั้ย
 

บอสว่าไม่บ่อย สิ่งที่บอสหยิบขึ้นมามันเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่ว่ามันเกิดขึ้นได้จริงๆ ยกตัวอย่างเช่น พอผู้ชายหน้าตาดีคนนึงไปชอบผู้ชายหน้าตาดีอีกคนนึง ดังนั้นเกย์อีกคนนึงก็มีโอกาสที่จะชอบทั้งคนแรกและคนที่สอง เป็นเรื่องปกติในหมู่เกย์ หมู่เลสเบี้ยน คนที่ชอบเพศเดียวกัน เพราะจะชอบคนไหนก็ได้ มันไม่เหมือนหญิงชาย

คิดว่าความเข้าใจทางเพศของคนในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนแก่ หรือวัยกลางคนมันดีขึ้นกว่าในยุคสมัยก่อนหรือยัง

บอสว่าสัดส่วนเป็นไปในทางที่ดีขึ้น แต่ว่าจริงๆ แล้วการที่เราใช้ชีวิตประจำวันบางทีก็ต้องอยู่กับผู้ใหญ่อีกเจนฯ นึง ซึ่งก็ยังมีบางเจนฯ ที่ยังไม่เข้าใจเรื่อง LGBT แต่ว่าถ้าในกรณีที่อยู่ในเจนฯ Z ที่เป็นเด็กวัยรุ่นขึ้นมาบอสว่าทุกคนพร้อมที่จะรับและเข้าใจแล้ว จริงๆ ก็น่าแปลกใจเหมือนกัน
พอมีเรื่องของคู่วาย คู่จิ้นขึ้นมา โอ้โห คนกรี๊ดทั้งบ้าน แทนที่คนจะรู้สึกว่าอี๋…ทำไมผู้ชายมันจูบกัน จริงๆ ถ้าเป็นวัยรุ่นบอสว่าน่าจะโอเคขึ้น

ทำไม ณ ปัจจุบันพวกซีรีส์ พวกหนังในเมืองไทยยังวนเวียนอยู่กับเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศ ยังไม่สามารถขยับก้าวไปอีกขั้นที่เราไม่สนใจเรื่องพวกนี้แล้ว แต่จะหันไปเล่าเรื่องอื่นแทน
 

บอสคิดว่าต่อให้ทุกคนยอมรับเรื่องเพศสภาพแล้วก็ตาม แต่สิ่งนี้ยังเป็นคอนเทนต์ที่น่าสนใจอยู่นะ อย่างเมื่อก่อนมีหนังที่พระเอกนางเอกรักกันมาก แบบ Titanic เดี๋ยวนี้ก็อาจจะไม่ค่อยทำกันแล้ว เพราะคนชินกันแล้วประมาณนึง แต่พอมาในยุคนี้คนกำลังเสพสื่อสิ่งนี้อยู่ บอสว่าก็ยังเป็นช่วงที่คนสนใจอยู่ ก็ยังผลิตกันมาเรื่อยๆ คือคนทำก็โฟกัสที่คนดูเป็นหลัก คนดูอยากดูก็อาจจะยังทำออกมาเรื่อยๆ ไม่มีวันหมด


B – ผึ้ง-สาลินี เขมจรัส

เล่าถึงที่มาของตัว B หน่อยว่าได้โจทย์มายังไง

ตัว B ในที่นี้ก็คือไบเซ็กชวล พอเราได้โจทย์ตัว B มาแล้วเราก็ได้จุงโกะ (ชนกชนม์ ซิมงาม) มาด้วย ซึ่งเป็นปัญหาหนักของเรามาก เพราะน้องเค้าลุคเป็นทอมบอย แต่ว่าไบเซ็กชวลถ้าตามความรู้สึกแวบแรกคือไม่ใช่ลุคนี้แน่ๆ

แสดงว่าก็น่าจะมีภาพอยู่ในหัวไว้แล้วเหมือนกัน
 

คือถ้าพูดถึงเกย์เราจะนึกภาพออกเยอะมาก อย่างคนดังในโลกนี้ วันหนึ่งประกาศว่าเค้าชอบเพศเดียวกัน จากเพศทั่วๆ ไปชายหญิง เค้าก็จะถูกจัดหมวดว่าเป็นเกย์ แต่ถามว่าไอคอนดังๆ ที่เป็นไบฯ มีใครบ้าง จะนึกไม่ออก เพราะส่วนใหญ่พอคนคนหนึ่งชอบเพศหนึ่ง แล้ววันหนึ่งไปชอบอีกเพศหนึ่ง เค้าจะไม่ได้ถูกขนานนามว่าเป็นไบฯ แต่เค้าจะถูกขนานนามว่าคุณได้เปลี่ยนไปเป็นอีกไทป์นึงเลย มันอยู่ที่ว่าสถานะในตอนนั้นว่าเค้าคบใคร เพศไหน 

มันก็เลยเป็นความยากของเราที่จะตีความ แล้วน้องจุงโกะก็ดูเป็นเด็กบอยๆ แต่ต้องมารับบทเป็นคนที่ชอบได้ทั้งชายและหญิง เราตีความนานมากว่าอะไรคือใช่หรือไม่ใช่แค่คิดวิเคราะห์ว่าคนที่เป็นไบฯ เป็นยังไงก็ทำการบ้านหนักมาก เราคุยกับคนเยอะมาก สุดท้ายแล้วบทหรือหนังที่เราทำออกมามันคืออะไรก็ได้ถ้าคุณมีความสุขกับความรู้สึกของคุณ แล้วในส่วนดีเทลอื่นๆ ก็แล้วแต่คู่ไป แต่ในความเป็นจริงคือเราไม่สามารถที่จะระบุอะไรขนาดนั้นหรอก

ยุคสมัยนั้นพี่ผึ้งมีความสงสัยอะไรในเรื่องเพศสภาพบ้างไหม 
 

คือตอนนั้นไม่รู้ตัว ไม่ได้โฟกัสว่าตัวเองจะชอบเพศเดียวกันได้รึเปล่า เพราะยังเด็กมากก็ยังไม่ได้คิดเรื่องเพศตรงข้ามหรือว่าความรู้สึกโรแมนติก แต่มันมีอารมณ์แบบว่าพอเป็นนักว่ายน้ำก็จะมีเด็กผู้หญิงมากรี๊ด แต่เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเฮ้ย กูเท่นะ แต่จะรู้สึกแปลกๆแล้วก็มีเพื่อนผู้หญิงที่สนิทกันมากๆ ไปไหนมาไหนก็จูงมือกัน ทุกวันนี้มานั่งดูรูป…เชี่ย
แม่งดูเหมือนแฟนกันมากเลย แต่เราไม่รู้ตัว เพราะเราไม่ได้รู้สึกว่าเราเป็น แต่ตอนนั้นมันอาจจะใช่ก็ได้ แต่เราไม่สามารถคอนโทรลได้ เพราะว่ามันยังเด็กเกินกว่าที่จะไปนั่งวิเคราะห์ว่าโมเมนต์นั้นเราเป็นนะ เพราะฉะนั้นการที่เขาให้โจทย์นี้กับเรา ก็ตรงที่สุดแล้วในบรรดาผู้กำกับ 4 คนนี้

ถ้าให้เทียบเรื่องความลื่นไหลทางเพศในสมัยก่อนกับสมัยนี้ ต่างกันยังไงบ้าง
 

แน่นอนว่าสมัยนี้มันสะดวกกว่าเยอะ คือลื่นไหลสะดวก แต่มันก็คงไม่ได้สะดวกไปทั้งหมด แต่ว่าเมื่อก่อนเค้าฝ่าฟันอะไรกันมาเยอะมากจริงๆ ทั้งเทคโนโลยีเอง หรือแม้กระทั่งการเข้าห้องน้ำ หรือของที่เป็นของยูนิเซ็กส์ต่างๆ เมื่อก่อนมันไม่เหมือนสมัยนี้เลย เมื่อก่อนคือคุณต้องเลือกระหว่างซ้ายกับขวาเท่านั้น ในขณะที่ทุกวันนี้มันมีความเอ็นดูของสังคมโดยรวม 

ถ้าถามย้อนไปช่วงวัยรุ่นมัธยมฯ ช่วงนั้นปัญหาที่เกี่ยวกับเพศสภาพคืออะไร
 

ตอนมัธยมฯ เนี่ยถ้าใครที่ดูเป็นผู้ชายแล้วดูสาวก็จะโดนแกล้ง โดนล้อว่าอีตุ๊ด พี่จะโดนล้อว่าเป็นทอม ตอนเด็กดูบอยมากเพราะเป็นนักว่ายน้ำ แล้วก็ตัดผมซอย คนก็จะเข้าใจว่าอีเนี่ยเป็นทอมแน่นอน ถ้าปัญหาเรื่องเพศสภาพมันก็จะอยู่ในจุดของการระบุตัวตนในตอนนั้น คนกลุ่มใหญ่ก็จะเป็นเพศตรงๆ ชายหรือหญิง พอคนที่ดูมีความแตกต่างนิดนึง เป็นผู้ชายที่ดูสาวขึ้นมาหน่อยก็จะถูกมองว่าเป็นชนกลุ่มน้อยที่ดูแตกต่างในวันนั้นนะ ส่วนผู้หญิงที่ดูถึกๆ ลุยๆ ทำไมตัดผมซอย ก็จะถูกล้อเหมือนกันว่าเป็นทอม

แล้วถ้าเป็นสังคมปัจจุบันล่ะ พี่ผึ้งมองว่าปัญหาของ LGBT คืออะไร
 

จริงๆ มันก็ยังคงมีหลายสิ่งแหละ คือในประเทศไทยค่อนข้างโอเค ถึงแม้ว่าสื่อจะเอาเพศที่สามมาทำตลกก็ตาม แต่อย่างน้อยสังคมไทยก็ค่อนข้างเข้าใจโดยรวมว่ามีสิ่งนี้อยู่ และมันไม่ได้เป็นสิ่งผิด แต่บางประเทศจะรุนแรงมาก ต้องห้ามบอกใคร ของเราค่อนข้างโชคดีในจุดนั้น แต่ว่าการเหยียดกันเนี่ย บางทีเพศที่สาม ที่สี่ ที่ห้า ที่หก ที่เจ็ด ที่แปด ก็เหยียดเพศชายหญิงด้วยซ้ำ เหมือนตั้งแง่กันไปกันมา

บทสรุปตัว B ของพี่ผึ้งเป็นอย่างไร 
 

เรื่องของเราจะต่างจากคนอื่นเล็กน้อย เพราะไม่มีบทสรุปอะไรซะทีเดียว เราไม่อยากสรุปอะไร คนคนนึงที่วันนี้เป็นอย่างนี้ พอวันพรุ่งนี้ก็ไม่รู้ว่าเขาจะเป็นยังไง เราก็แค่อยากจะบอกว่าเราต้องเคารพความรู้สึกของตัวเอง คุณรู้สึกยังไงคุณก็แสดงออกไปโดยที่อย่าไปฝืน


T – พงศ์-ฐิติพงศ์ เกิดทองทวี

เรื่องราวของตัว T มีอะไรบ้าง 

สำหรับเพศทางเลือกบ้านเรา จริงๆ แล้วบ้านเราเหมือนเปิดมากเลยนะครับ มีคนเป็นกะเทยหรือเป็นเกย์เยอะแยะ แต่ไม่รู้ทำไมเวลาที่มีเรื่องเกิดขึ้นกับคนเหล่านี้ มักจะมีคนด่าขึ้นต้นมาเลยว่าโห…ไอ้เกย์ ไอ้ตุ๊ด ก็เพราะว่ามึงเป็นยังงี้ไง มันเหมือนกับว่าเราไม่มีปัญหากับการเป็นกะเทยหรือเป็นตุ๊ดของคุณนะ แต่ว่าพอเขาทำผิดพลาด เรากลับยกเรื่องนี้มาใช้ในการโจมตีเค้าก่อนที่จะไปดูว่าเขาทำผิดอะไรมา คือเราไปด่าที่เพศสภาพเขาก่อน มันเลยเป็นประเด็นที่มาของเรื่องนี้ 

ตอนช่วงวัยรุ่นประมาณมัธยมฯ ตอนนั้นปัญหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่อง LGBT คืออะไร
 

ปัญหาคือเราชอบไปกำหนดสิ่งที่เขาน่าจะเป็น หมายถึงว่าพอเราเห็นเราจะรู้สึกตั้งแง่ตลอดเวลา จริงๆ ผมรู้สึกว่ายุคหลังๆ มันมีคนเริ่มพูดถึงเรื่องนี้แล้วนะ อย่างพี่ป๋อมแป๋มก็พูดเรื่องที่ว่าเป็นกะเทยไม่ได้แปลว่าตลกนะ แต่ว่ามันน่าแปลกที่ทำไมกะเทยทุกคนถึงได้มีเซนส์ในการพูดโต้ตอบที่เร็วมาก ผมลองคิดเล่นๆ นะ หรือว่ามันอาจจะเป็นเพราะว่าเค้าโตมาในบริบททางสังคมที่ทุกคนพยายามจะล้อเลียนเค้า ทำให้กะเทยทุกคนถึงมีสกิลแบบนั้น เพราะว่าเค้าต้องต่อกรกับสิ่งเหล่านี้

อะไรอีก
 

ความขี้เงี่-ยน คือจริงๆ มันก็รวมไปถึงผู้หญิงด้วยนะ สมมติภายใน 1 สัปดาห์ถ้าผู้หญิงคนนึงไปมีอะไรกับผู้ชาย 2 คนเราก็จะมองว่าเชี่ยแม่ง มึงแรดว่ะ แต่ในขณะเดียวกันถ้าผู้ชายคนหนึ่งนอนกับผู้หญิง 3-4 คน ก็จะกลายเป็นว่ามึงทำได้ไงวะ เจ๋งว่ะ แต่ผมไม่เข้าใจว่าตั้งแต่เมื่อไหร่ที่
คนชอบเอาภาพของเพศทางเลือก LGBT ไปผูกกับความหงี่ ความงี่-ยน เกย์กลายเป็นสัญลักษณ์ของการไม่ผูกพัน ไม่ผูกมัด ไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้ยังไง แล้วมันฝังอยู่ในทัศนคติคนไทย หรืออาจจะทั่วโลก จนเรารู้สึกเป็นเรื่องปกติ เช่น เราจะรู้สึกสงสัยไว้ก่อนถ้าเพื่อนเกย์ของเราหายไปจากวงเหล้า มึงไปเอากันในห้องน้ำเหรอ คือมันกลายเป็นอย่างนั้นตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ผมก็เลยอยากเล่นกับเรื่องพวกนี้

คิดว่าอะไรที่เป็นปัญหาหลักของ LGBT ยุคนี้
 

ผมว่าจริงๆ แล้วมันดีขึ้นมากนะ ถ้าคำถามนี้มันถูกถามก่อนหน้านี้มันคง…โห เดือดมากประมาณนึง แต่เดี๋ยวนี้มันเหลือแค่เรื่องทัศนคติ เรื่องสิทธิ์บางอย่าง ถ้าคุณเป็นกะเทยแล้วคุณอยากสมัครงานตำแหน่งนี้ คุณต้องพิสูจน์ตัวเองมากกว่าผู้ชายหรือผู้หญิงว่าคุณไม่ได้เป็นกะเทยที่ไร้สาระ คุณมีความสามารถด้วย มันก็คงเรื่องสิทธิ์ เรื่องความเหลื่อมล้ำที่เป็นภาพใหญ่ในปัจจุบัน แต่ผมไม่ได้อินไซด์ถึงขนาดรู้ว่ามันยังมากอยู่หรือน้อยแล้ว แต่เท่าที่ได้ยินมาคือประมาณนี้

แล้วถ้าถามเรื่องความลื่นไหลทางเพศในปัจจุบันเทียบกับในอดีต

ผมว่าเดี๋ยวนี้มันคล่องตัวมากขึ้น คือ LGBT เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมานานมากจนปัจจุบันนี้คนที่เป็น LGBT บางคนก็ยังเบื่อการพูดถึง LGBT เองเลย เพราะรู้สึกว่าพูดทำไมอีก มันเหมือนพูดเรื่องเดิม อยู่ที่เดิมเดี๋ยวนี้บางคนก็ไม่อยากมานั่งจำกัดความ LGBT แล้ว กูชอบผู้ชาย แต่ก็ไม่ต้องบอกว่ากูเป็นเกย์ก็ได้นี่ กูก็แค่ชอบผู้ชาย มันเหลือแค่นั้นแล้ว ซึ่งอีก 5 ปีกูอาจจะชอบทอมหรือชอบผู้หญิงก็ได้ สุดท้ายก็วนกลับมาที่เดิมว่า LGBT มันก็คือคำเรียกที่ไว้จำกัดความคนกลุ่มนี้ แต่ว่าบางทีมนุษย์มันก็ซับซ้อนเกินกว่าที่จะมานั่งจำกัดความว่าเฮ้ย คุณเป็นอะไรยังไง