From the Ground Up – โจโจ้ ทิชากร ภูเขาทอง

หลายคนคงรู้จักโจ Trasher ในฐานะคนทำปาร์ตี้มีเต็มไปด้วยเสียงการันตีความันที่สุดในบรรณพิภพตอนนี้  และถ้าใครติดตามเป็นแฟนคลับกลุ่ม Trasher คงรู้ดีว่านอกจากจัดปาร์ตี้แล้ว  เขายังมักทำอะไรสนุกๆ  ให้เราได้ดูกันเสมอ  โดยเฉพาะมิวสิกวิดีโอพาโรดี้ที่สร้างชื่อให้กับกลุ่มนี้ในโลกออนไลน์  จนเมื่อโจโจ้ทิชากร  ภูเขาทอง  หัวหอกแห่งกลุ่ม Trasher ลุกขึ้นมาทำซีรีส์ออนไลน์ GAY OK BANGKOK ที่มีถึงสองภาคและได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทางบวกถึงความเรียลของเรื่องราวที่เปิดเผยความสัมพันธ์ของเกย์ในแง่ความเป็นมนุษย์คนหนึ่ง  จนวันนี้เราอยากชวนมาทำความรู้จักเขาให้มากขึ้นกว่าเดิมอีกนิดในฐานะผู้กำกับหน้าใหม่ของซีรีส์สุดแรงส่งท้ายปี ‘Friend Zone เอา  ให้  ชัดซึ่งเขาบอกว่านี่คืองานบนดินชิ้นแรก’ 

 

ทำไมถึงอยากเป็นผู้กำกับ

เราโตขึ้นมากับการชอบดูหนัง  ตอนเด็กอยู่ที่บ้านที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีก็มักเช่าวิดีโอมาดู  ถ้าพ่ออยากให้เราทำอะไรให้เขาสักอย่าง  เขาจะเอารางวัลมาล่อใจด้วยการพาไปดูหนัง  ให้เงินไปเช่าวิดีโอ  เราโตมากับละครช่องเจ็ด  หนังจีน  หนังไทยวัยรุ่นเก่าๆ  มันมีเมจิกต่างๆ  ในหนังในละครที่ทำให้เราอยากไปทำตรงนั้น  อาจจะเป็นเพราะว่าส่วนหนึ่งเราเป็นคนค่อนข้างดราม่าด้วย


การทำ GAY OK BANGKOK กับ Friend Zone ต่างกันไหม

GAY OK BANGKOK  เราทำขึ้นมาเพราะอยากทำ  อยากเล่าเรื่องราว  ไม่ได้คิดถึงคนดูเลย  เราแค่อยากเล่า  แต่ Friend Zone มันไม่ใช่อย่างนั้น  ถ้าเทียบกัน  GAY OK BANGKOK  มันเหมือนใต้ดินนะ  แต่ Friend Zone มันขึ้นมาบนดิน  แต่มันมีประเด็นที่เราพูดได้ต่อจาก  GAY OK BANGKOK  การทำงานต่างกันเพราะทาร์เก็ตคนละกลุ่ม  GAY OK BANGKOK  ทาร์เก็ตมันคือชีวิตเกย์  ในขณะที่ Friend Zone มันกว้างมาก  มีทั้งชายจริงหญิงแท้  เกย์  เรื่องราวมิตรภาพของชีวิตวัยรุ่นช่วงยี่สิบต้นๆ  ความต่างมีทั้งอารมณ์ที่เราต้องทำให้แมสขึ้น  อย่างเช่นใน  GAY OK BANGKOK  จะไม่บิวต์  ธรรมชาติ  ดูจริง  แต่ในขณะที่ Friend Zone เรายังต้องรักษาความเป็นธรรมชาติของการแสดงของนักแสดงอยู่ แต่เราต้องเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม  เพราะเรากำลังพูดกับคนวงกว้างที่เขาชินกับการดูซีรีส์  ดูละคร  การแสดงต้องเพิ่มเลเวล  มันจะไม่สามารถแสดงเป็นมนุษย์เก็บกดไม่พูดความรู้สึก  ไม่แสดงสีหน้าให้เห็นได้  เสียงต้องดังขึ้น  การแสดงต้องใหญ่ขึ้น  หรือแม้แต่การใช้สกอร์หรือเพลง  ซึ่งปกติเราเป็นคนไม่ชอบใช้สกอร์ในการบิวต์  แต่พอมาทำเรื่องนี้มันต้องใช้  เพราะเรากำลังทำให้คนดูทั่วไปดูอยู่  ฉายเวลา 4 ทุ่มวันอาทิตย์  ทำยังไงให้เอาคนดูให้อยู่ที่สุด


จำเป็นไหมเมื่อเราต้องสื่อสารระดับแมสจะต้องทำแบบนี้เสมอไป

เราว่ามันจำเป็นในแง่ที่ว่าเรากำลังพูดกับคนกลุ่มใหญ่มากขึ้น  แล้วอีกอย่างมันไม่ใช่เงินเรา  เราต้องสร้างความมั่นใจให้กับนายทุนคนที่ให้เงินเรามาทำ  ต้องยอมรับว่า  GAY OK BANGKOK  มันเป็นงานเฉพาะกลุ่มมากๆ  เรารู้ว่าคนดูคือใคร  แต่ Friend Zone มันคือเรื่องแรกของเราที่ทำให้คนทั่วไปดู  ได้รู้จักเรา  มันมีความจำเป็นที่จะประนีประนอมกับตัวเองในจุดหนึ่งให้การตลาดและศิลป์มันอยู่ด้วยกันได้  โดยที่ไม่รู้สึกว่าเสียตัวตนจนเกินไปจนไม่มีความสุข  เราคิดว่าเราบาลานซ์มันได้นะ  และเราก็แฮปปี้


อะไรที่ทำไม่ได้บ้างเมื่อขึ้นมาทำงานบนดิน

มันมีตั้งแต่ประเด็นแรงๆ  ที่อาจจะยังไม่พร้อมที่จะพูดถึง  หรือฉากเลิฟซีนที่มันดุเดือดเลือดพล่าน  ฉากเลิฟซีนใน  GAY OK BANGKOK ดุเดือดมากนัก  เราก็ต้องเบาลง  แต่เราทำไม่ได้ทำฉากเลิฟซีนเพื่อเซอร์วิสคนดูนะ  เลิฟซีนของเรามันถูกทำขึ้นมาเพื่อเล่าเรื่องราวหนึ่ง  เล่าอารมณ์ของตัวละคร    ช่วงเวลานั้นๆ  ส่วนใหญ่ที่ทำไม่ได้คือเรื่องการแสดงนั่นแหละที่ต้องทำให้ใหญ่ขึ้น


แล้วขจัดความไม่เมกเซนส์ที่เรามักเห็นในละครไทยยังไง ในเมื่อทำซีรีส์ที่ดูเรียลมากๆ มาก่อน

แต่ก่อนเวลาเราดูละครแล้วเห็นตัวละครมาเจอกันโดยบังเอิญ  มันเป็นอะไรที่เราอี๋มาก  หรือการพูดกับตัวเอง  แต่เราไม่มีนะ  เพราะ Friend Zone มันเบสออนเรียลิสติก  แต่จุดหนึ่งเราก็ต้องทำใจ  เพราะเราทำละครให้คนหมู่มากดู  เรารู้สึกยี้กับสิ่งที่เขียนลงไป  จะขจัดความรู้สึกนี้ยังไง  เราเลยไปถามพี่คนหนึ่งซึ่งเขาเขียนบทมาหลายเรื่อง  เขาแนะนำว่าอะไรที่เรายี้  แสดงว่ามันเวิร์กกับคนกลุ่มใหญ่  เราก็ต้องทำ  แต่เราจะคิดว่าเราจะตบยังไงให้มันเรียลิสติกหน่อย  ไม่มีพูดคนเดียว  ไม่มีปั้นหน้าให้กล้องสอง  อารมณ์แบบนั้นมีอยู่แต่ต้องหาวิธีนำเสนอ  เราต้องรู้ทาร์เก็ตคนดูว่าเราทำให้ใครดู  GAY OK BANGKOK  ไม่ได้ฉายบนจอใหญ่  ดูในยูทูบ  ดูในที่มืด  สามารถโฟกัสได้  แต่นี่อยู่ในช่องใหญ่  วัฒนธรรมการดูละครของคนไทยคือ  ฟังเสียง  ดูภาพ  บางทีปิดเสียงยังรู้ว่าตัวละครกำลังแสดงอารมณ์อะไร  เราก็ต้องหาวิธีในการบาลานซ์สิ่งนั้นให้มันเกิดขึ้นให้ได้ 


ถ้าเราย้อนกลับไปเมื่อตอนมีซีรีส์เรื่อง Hormones วัยว้าวุ่น มันก็ใหม่มากๆ ทำไมไม่รู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องทำซีรีส์ตามขนบเดิมก็ได้นะ 

ลองกลับไปดู Hormones นะ  คุณจะเห็นว่าเขามีวิธีการแบบละครไทยเยอะแยะมากมายเลยนะ  แต่เขาใช้วิธีการเล่าใหม่ๆ  คุณกลับไปดูเลย  อยู่ดีๆ  มีตัวละครมาแอบอยู่ข้างเสาแล้วก็ได้ยินประโยคที่สองคนพูด  เฮ้ย  มันเน่ามากกกหรือฉากที่เต้ยไปเจอภูกับธีร์นอนอยู่ในหอด้วยกัน  นี่มันมงกุฎดอกส้มชัดๆ  แต่นาดาวใช้วิธีการเหล่านี้ด้วยการใช้นักแสดงใหม่  ด้วยการใช้สกอร์  ด้วยการเปลี่ยนมุมภาพ  มันเลยทำให้คนดูรู้สึกใหม่  ทั้งที่ไม่ได้ใหม่เลย  แต่มันถูกห่อหุ้มด้วยแพ็กเกจใหม่ๆ  มากกว่า  เรากลับไปดู  เฮ้ยยย  มึงเล่นแบบนี้เลยเหรอ  มันเป็นวิธีที่ช่องเจ็ดช่องสามก็ใช้ 


แล้วใน Friend Zone ใช้อะไร

เราถนัดบทสนทนา  การเสียดสี  เช่น  มีฉากตบกลางห้าง  ก็จะมีตัวละครพูดว่าเฮ้ย  มาตบกันกลางห้างได้ไง  นี่ไม่ใช่ละครนะ  ในความเป็นละครของมันก็ยังมีแบล็กคอเมดี้อยู่  มันล้อเลียนตัวเองอยู่  เราต้องหาวิธีการให้คนดูเห็นว่าเฮ้ย  ตัวละครมันรู้ตัวนะว่าทำอะไร  แล้วมันก็หาวิธีด่าตัวเองไปในตัวด้วย


ทำไมถึงเลือกที่จะเล่าเรื่อง Friend Zone ในการทำงานบนดินครั้งแรก 

Friend Zone จริงๆ  แล้วความหมายมันคือเพื่อนสองคนไม่รู้ว่าจะเป็นแฟน  หรือเป็นกิ๊กกันดี  แต่เราคิดว่าพอคำมันแยกกัน Friend Zone มันเอามาตีความได้กว้าง  หลายความหมาย  เลยเกิดเป็นความสัมพันธ์หลายคู่ที่พูดถึงเด็กวัยรุ่นช่วงยี่สิบต้นๆ  หลังเรียนจบ  ซึ่งซีรีส์ไทย ละครไทยไม่ค่อยมีตัวละครวัยนี้  ส่วนใหญ่มหาวิทยาลัย  มัธยมฯ  หรือวัยทำงานไปเลย  เราคิดถึงตัวเองตอนเรียนจบใหม่ๆ  ชีวิตพังมาก  มันเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจมาก  ไม่รู้ตัวเองชอบอะไร  ไม่รู้จะทำงานอะไร  มีปัญหากับเพื่อน  ยังขอตังค์พ่อแม่อยู่เลย  ใจหนึ่งก็หวั่นนะ  เพราะสมัยนี้คนทำซีรีส์ประเด็นดาร์กมากเลย  ข่มขืน  ไซเบอร์บูลลี่  แต่ของเรามันเป็นปัญหาทั่วไปมาก  กูหางานทำไม่ได้  อยู่หอทะเลาะกับเพื่อนเพราะเพื่อนกินของในตู้เย็นกู  แฟนไม่ลงรูปในเฟซบุ๊ก  แฟนยังขึ้นสเตตัสในเฟซบุ๊กว่าซิงเกิ้ลอยู่  เป็นปัญหาที่ตัวเรา    อายุเท่านี้มองว่าไร้สาระ  แต่พอไปถามน้องๆ  อายุประมาณนั้นเขาบอกว่ามันเรื่องใหญ่มากเลยนะ  เราเลยรู้สึกว่าเฮ้ย  มันน่าสนใจนะ  ที่เอาปัญหาที่เราคิดว่าเล็กน้อย  แต่สำหรับคนในช่วงอายุนั้นมันใหญ่มากมาพูดถึง 


แต่ทีเซอร์ก็แรงมากนะ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องเซ็กซ์

เรื่องเซ็กซ์เป็นเรื่องพื้นฐานของเด็กวัยรุ่นสมัยนี้นะ  เราต้องยอมรับ  แล้วทำไมเราถึงพูดไม่ได้กันล่ะ  ทำไมต้องอายที่จะพูดเรื่องนี้กัน  เราคิดว่าเซ็กซ์มันเป็นประเด็น  เป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดดราม่าในชีวิตคนเราหลายๆ  เรื่องเลยนะ  ตั้งแต่ชีวิตคู่  ชีวิตเพื่อน  เราเข้าใจถึงความเป็นห่วงว่าเยาวชนจะดูแล้วทำตามหรืออะไรที่มักพูดกัน  มันถึงมีระบบเรตติ้งไง  นึกออกไหม  เวลาทำละครแล้วต้องมาห่วงว่าเดี๋ยวเยาวชนเอาไปเลียนแบบ  แล้วววสุดท้ายฉันต้องสร้างสื่อสะอาด  บริสุทธิ์ใสอย่างเดียวเหรอ  แล้วคนดูกลุ่มอายุเท่านี้ที่เขาอยากดูอะไรที่เหมาะสมกับวัยเขาบ้างล่ะอยู่ที่ไหน  สุดท้ายความรับผิดชอบอยู่ที่ครอบครัว  อยู่ที่ตัวคุณเองหรือเปล่า


ถ้าทำละครตอนนี้ ต้องแรงเท่านั้นไหมถึงจะดัง

เราต้องยอมรับว่าเราต้องหาจุดขาย  เราต้องตีหัวเข้าบ้าน  มันใช้ได้และจำเป็นในการดึงให้คนเข้ามาดู  นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมทีเซอร์ถึงออกมาแบบนั้น  แต่เนื้อในนั้นมันต้องหาวิธีการให้คนดูดูแล้วรู้สึกว่ามันมีอะไรมากกว่านั้น  มันมีเรื่องเซ็กซ์นะ  แต่มันมีประเด็นนะเว้ย  ไม่ใช่เอะอะจูบ  เอะอะตบตี  มันกำลังพูดถึงความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของมนุษย์  ของเพื่อน  ไม่ใช่คู่รักอย่างเดียว  ถ้าได้ดูกันจะรู้ว่าซีรีส์เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เพื่อนเอาเพื่อน  แต่พูดถึงมิตรภาพของคู่เพื่อนทั้งหญิงชายหรือเกย์มากกว่า


เซ็กซ์ถูกนำเสนอในซีรีส์หรือละครไทยมากน้อยแค่ไหน และพอใจหรือยัง และยังมีมุมอื่นเกี่ยวกับเรื่องเซ็กซ์ที่ยังน่าสนใจอยู่อีกไหม

ถ้าพูดถึงเรื่องเซ็กซ์มันยังมีอีกหลายมุมมองที่ยังไม่ถูกเปิดเผย  ที่ยังไม่ถูกเสนอในสื่อใหญ่อีกนะ  ถูกกระมิดกระเมี้ยนเขินอายภายใต้วัฒนธรรมไทย  เท่าที่ทำได้ตอนนี้ก็ประมาณหนึ่ง  แม้เราเองเป็นคนเปิดเผยมาก  อยากพาไปให้สุด  แต่พอเราทำจริง  เราก็จะพยายามหาวิธีการเล่าอย่างมีศิลปะ  ไม่ได้ประเจิดประเจ้อหรือ Look Cheap ขนาดนั้น  แต่เราก็เห็นหลายคนพยายามพูดเรื่องนี้กันเยอะนะ  ไปดูซีรีส์ในไลน์ทีวี ในเคเบิ้ลสิมีเยอะ  แต่มันคงจะดีกว่านี้ถ้ามันสามารถขึ้นมาบนดินได้  เรื่องเซ็กซ์มันอาจจะเป็นประเด็นที่สามารถถกเถียงกันได้ในละครของช่องสามช่องเจ็ด  หรือง่ายๆ  เมื่อไรที่คู่เกย์สามารถเป็นคู่รักเป็นตัวหลักในละครหลังข่าวได้แสดงว่าเมื่อนั้นคนไทยเปิดใจกับเรื่องรสนิยมทางเพศแล้ว  


มองว่ามันมีลำดับชั้นของคำว่าสิ่งบันเทิงในบ้านเรา มีโทรทัศน์ที่เป็นตลาดบน มีอินเทอร์เน็ตที่เป็นตลาดล่างอย่างนี้เหรอ 

ใช่  มันมี


แต่ซีรีส์วายก็มีแฟนคลับมากมายเลยนะ ทำไมสื่อกระแสหลักอย่างช่องสามช่องเจ็ดไม่ทำล่ะ

แต่คนกลุ่มใหญ่ที่ดูละครในช่องเหล่านั้นที่เรียกว่าตลาดบน  เขาก็ยังติดอยู่กับขนบของชาย-หญิง  ณเดชน์  ญาญ่า  คิม  หมากอะไรก็แล้ว  ยังไม่สามารถเปิดรับคู่ความสัมพันธ์อื่นๆ  นอกจากหญิง-ชายได้  เพราะเราถูกปลูกฝังว่าถ้าคู่ชาย-ชายคาแร็กเตอร์มันต้องตลก  หรือเศร้ารันทดไปเลย  โดยไม่ได้มองถึงอารมณ์ความเป็นมนุษย์จริงๆ


แปลว่ามันเป็นโลกคู่ขนานใช่ไหมระหว่างบนดินกับใต้ดิน ทั้งๆ ที่อยู่พื้นที่หมวดหมู่เดียวกันคือบันเทิงไทย ละครซีรีส์ไทย แล้วมันจะมีทางมาบรรจบกันไหม

เรามีความหวัง  เราคิดว่าสักวันหนึ่ง  เพราะตอนนี้ตลาดคู่ชาย-ชายใหญ่มากนะ  เดี๋ยวเขาจะเห็นว่าแรงขับเคลื่อนทางการตลาดมันสูงมาก  แล้วเขาก็จะต้านไม่ไหว  จะถูกดันไปตามแรงนั้น  แล้วเรื่องแบบนี้  ละครหรือซีรีส์ที่มีคู่หลักเป็นเกย์จะขึ้นไปบนดิน  เผลอๆ  ภายในปีสองปีนี่เอง  เราอาจจะได้เห็นดาราใหญ่ๆ  หันมารับบทชายชาย  หรือบทที่ท้าทายมากขึ้น  พี่เวียร์ยังเล่นมะลิลาได้เลย  ความสัมพันธ์ชายชาย  มันไม่ได้มีแค่เรื่องเซ็กซ์อย่างเดียวนะ  มันไปได้หมดนะ  คอเมดี้ก็ได้  ดราม่าก็ได้  ละครข้ามภพ  ละครผี  ไปได้หมด  หรือไม่ต้องเป็นชาย-ชายก็ได้  เป็นประเด็นอื่นก็ได้เรื่อง Fetish เรื่องสามคนผัวเมีย  ประเด็นนึงที่น่าสนใจที่ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงก็คือไบเซ็กชวล (เชื่อว่ามีจริงไหม) เราเชื่อว่ามันมีจริง  เรารู้สึกว่าไบฯ เป็นเพศที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงมากที่สุด  และอีกอันหนึ่งที่เราอยากเห็นมากก็คือหญิง-หญิง  แต่เราไม่ถนัด  เราเลยไม่ได้ทำ  เราอยากเห็นการพูดถึงหรือทำมากขึ้น  มีตลาดที่กว้างขึ้นมากกว่านี้  หรือทรานส์เมน  ซึ่งเป็นประเด็นโลกเลยนะ  มันควรจะได้รับการพูดถึงมากขึ้น  หรือที่เราเห็นได้ตามข่าว  กะเทยแต่งงานกับทอม  อะไรก็แล้วแต่ที่มันสามารถเอามาพูดได้ในความธรรมดาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง


กลับมาเรื่อง Friend Zone คิดว่าความสัมพันธ์แบบนี้มันเกิดขึ้นได้ยังไง

ก็เกิดจากการที่คนสองคนพยายามตกลงกันแค่ว่าแค่เซ็กซ์นะ  แต่มันยากกกเว้ย  มันยากมากๆ  เลยในการที่จะเป็นเพื่อนเอากันได้  แต่ไม่รู้สึก  มันมีทั้งคนทำได้  และทำไม่ได้  เราอายุเท่านี้  เราผ่านจุดนั้นมาแล้ว  แต่เรานึกถึงตัวเองตอนที่เราเพิ่งเริ่มโลดโผน  เอาง่ายๆ  ตอนเรามี One Night Stand แค่คนสองคน  พอได้กันกลับบ้านไป  โห  อีด-ก  อยากเท็กซ์หาเขาแล้ว  เราเลยรู้สึกว่ามันน่าสนใจที่จะเอาโมเมนต์เหล่านี้มาพูดถึง  และความสัมพันธ์เหล่านี้มันเริ่มเยอะขึ้น  คนไม่อยากชัดเจน  เห็นแก่ตัว  ซึ่งความรักมันเห็นแก่ตัวอยู่แล้วล่ะ  เพราะใครๆ  ก็อยากมีชอยส์ที่ดีที่สุด


จริงเหรอ เรานึกว่าคนอยากจะประกาศความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของกันเสียอีก

เราอยู่กันคนละสังคมแล้วล่ะ (หัวเราะ) เราเป็นทั้งสองแบบนะ  เราผ่านจุดนั้นมาแล้ว  อยากเป็นเจ้าข้าวเจ้าของตั้งแต่ต้น  ตัวเองพื้นฐานเป็นคนมโนมากๆ  ได้กันครั้งเดียวก็คิดถึงงานแต่งงานแล้ว  แต่พอโตขึ้น  พอผ่านความเจ็บช้ำบ่อยๆ  ชินแล้ว  รู้แล้ว  โอเค  ไม่คาดหวังอะไรแล้ว  พอโดนเทก็จะเฮ้อ  แล้วก็ผ่านไป


นั่นหมายความว่าในความสัมพันธ์แบบ Friend Zone ตัวกับใจแยกกันถูกไหม

มันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในความสัมพันธ์แต่ละคนแล้วว่าทำใจได้มากน้อยแค่ไหน  บางคนก็อ่อนไหวเหลือเกิน  แต่บางคนก็ได้แล้ว  บายยยแต่เราเองส่วนตัว  เรามองเราว่าความสัมพันธ์แบบ Friend Zone มันจบไม่สวยหรอก  คนเรามันอินกันขนาดนั้นแล้ว  มันยากที่จะกลับไปมองกันเหมือนเดิม  ไม่รัก  ไม่หึง  ไม่รู้สึกอะไร  คนทำได้นี่เก่งมากเลยนะ  นับถือมาก  แต่สายดราม่า  ปาน  ธนพร อย่างเรา  จบไม่สวยแน่นอน


แล้วทำไมคนยังถึงชอบทำกันล่ะ ในเมื่อรู้แล้วว่าจะจบไม่สวย

ก็มันยั่วยวนไง  เซ็กซ์มันยั่วยวนนะ  ความชั่วมันทำง่ายกว่าทำความดีจริงๆ  นะ  เอาเข้าจริงมันต้องมีภูมิคุ้มกัน  เวลาจะกระโดดเข้าไปสู่ความสัมพันธ์แบบไหนก็ตาม  ถ้าพร้อมที่จะจอยก็ต้องพร้อมที่จะเจ็บด้วย 


แปลว่าส่วนตัวเชื่อในความสัมพันธ์แบบ Monogamy

เออเราก็แปลกใจตัวเองเหมือนกันนะ  ที่เราเชื่อในความสัมพันธ์แบบ Monogamy แต่เราก็แรดนะ  ตอนนี้เรามีความสัมพันธ์ที่ดูมั่นคงหน่อยนึงแล้ว  เราก็คิดไม่ออกว่ามันจะมีไหมที่วันหนึ่งเราจะกล้าบอกแฟนว่าเราจะคบแบบสามคนนะ  หรือเราจะ Open Relationship นะ  แต่ตอนนี้ก็ยังเชื่อแบบ Monogamy อยู่  แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นสำหรับคนอื่นๆ  ที่จะคบสามคนหรือ Open Relationship 


อะไรคือความวุ่นวายที่มนุษย์พยายามจะสร้างชื่อเรียกความสัมพันธ์หลายๆ อย่างขึ้นมาทั้ง Friend Zone, Friend with Benefit, Open Relationship กิ๊ก ฯลฯ

คือเราไม่ต้องพยายามจะแปะป้ายความสัมพันธ์อะไรทั้งสิ้น  อยากทำอะไรทำไปเลย  ไม่ต้องพยายามค้นหา  ปล่อยให้อารมณ์ความรู้สึกมันไปเอง  พอพยายามแปะป้ายก็เลยเกิดปัญหาความซับซ้อนก็เลยต้องมาเคลียร์กันเอาให้ชัดนี่ไง