บรรยากาศการตัดสินรอบสองโครงการ Street Fashion Stylist Award 2018

26.09.18 694 views

บรรยากาศการตัดสินรอบสอง กับโครงการ Fashion Stylist Award 2018 ซึ่งศูนย์การค้ายูเนี่ยนมอลล์ร่วมมือกับนิตยสาร HAMBURGER โดยในปีนี้มีธีมการประกวดว่า Ungendered หรือ #แฟชั่นไม่จำกัดเพศ มาดูกันว่าทั้ง 25 ผลงานที่ผ่านสู่รอบสองในปีนี้ มีผลงานของทีมใดน่าสนใจบ้าง และบรรยากาศการเตรียมตัวและการพรีเซนต์ต่อหน้าคณะกรรมการ รวมไปถึงคอมเมนต์ต่างๆ จากคณะกรรมการในรอบนี้มีอะไรบ้าง

11.00 น. คือเวลานัดที่ทั้ง 25 ทีมที่ผ่านเข้าสู่รอบสองต้องเริ่มมารายงานตัว เพียงไม่ถึงครึ่งชั่วโมงดีบริเวณชั้น 5 ศูนย์การค้า Union Mall ก็เต็มไปด้วยผู้เข้ารอบทั้ง 25 ทีม พร้อมเพื่อนฝูงผู้ปกครองที่มาให้กำลังใจ และที่สำคัญหลายๆ ทีมนำนางแบบนายแบบมาเองซะด้วย

หลังจากกรรมการกล่าวต้อนรับ พร้อมชี้แจงกติกา การให้คะแนน และลำดับในการเข้าพรีเซนต์ในวันนี้แล้ว แต่ละทีมก็แยกย้ายไปเพื่อเตรียมตัวพรีเซนต์ต่อกรรมการอย่างเต็มที่ หลายทีมเริ่มแต่งหน้าทำผมนางแบบนายแบบ เปลี่ยนเสื้อผ้ากันตรงนั้นเลย หลายทีมเลือกที่จะนำหุ่นใส่เสื้อผ้ามาเป็นแบบแทน บางคนขนมาจากบ้าน และบางทีมก็ขนมาจากต่างจังหวัดเลยทีเดียว

13.00 น. ก็ถึงเวลาที่ทีมแรกต้องเข้าไปพรีเซนต์ต่อหน้าคณะกรรมการทั้ง 5 คน ซึ่งก็คือ คุณจิดาภา ศิริจิตร ผู้บริหารศูนย์การค้า Union Mall (ผู้เชี่ยวชาญด้าน Visual Merchandising & Fine Arts), คุณคำฉันท์ ศรีสุวรรณ ที่ปรึกษาด้านการออกแบบภาพลักษณ์องค์กร ศูนย์การค้า Union Mall และอาจารย์พิเศษคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์, ผศ.จิรัชญา วันจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะและการออกแบบพัสตราภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คุณคเชนทร์ วงศ์แหลมทอง บรรณาธิการภาพนิตยสาร HAMBURGER และคุณชนิตตนัณท์ กาญจนสมวงศ์ สไตลิสต์จากนิตยสาร HAMBURGER 

สิ่งที่น่าสนใจในการพรีเซนต์รอบ 25 ทีมครั้งนี้ก็คือต้องนำเสนอผลงานจริงที่ไม่ใช่แค่ภาพถ่ายหรือภาพสเกตช์แล้ว แต่ละทีมที่ได้รับคำแนะนำเพิ่มเติมในการปรับปรุงผลงานจะสามารถปรับปรุงผลงานออกมาให้น่าสนใจและเป็นไปตามโจทย์ของการประกวดครั้งนี้ได้ยังไง รวมไปถึงทีมที่ส่ง
ผลงานในรอบแรกมาเป็นภาพสเกตช์หรืองานอิลลัสเตรทจะสามารถสร้างผลงานจริงได้น่าสนใจตามแบบที่ส่งมาได้หรือไม่

“ไอเดียน้องๆ ค่อนข้างดีนะคะ แต่อาจจะโฟกัสกันคนละจุด เราก็เลยต้องเน้นและย้ำในส่วนที่เป็นคอนเซ็ปต์เรื่อง Ungendered ไกด์ไลน์เขาเพิ่มเติมอีกนิดนึง เขาอาจจะไปได้ไกลกว่านี้ในรอบต่อไป” คุณจิดาภา ศิริจิตร ผู้บริหารศูนย์การค้า Union Mall (ผู้เชี่ยวชาญด้าน Visual Merchan-
dising & Fine Arts) กล่าวถึงภาพรวมหลังจากได้เห็นผลงานการพรีเซนต์ทั้ง 25 ทีมแล้ว

ในขณะที่คุณคำฉันท์ ศรีสุวรรณ ที่ปรึกษาด้านการออกแบบภาพลักษณ์องค์กร ศูนย์การค้า
 Union Mall และอาจารย์พิเศษคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ กล่าวว่า

“ทั้ง 25 ทีมทำผลงานออกมาได้ดีมาก เหนือความคาดหมาย เกณฑ์การพิจารณาหลักๆ ในวันนี้ก็คือเรื่องความคิดสร้างสรรรค์และตอบโจทย์เรื่อง Ungendered มากน้อยแค่ไหน สิ่งที่น่าสนใจและประทับใจก็คือในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 4-5 วันหลังจากที่ประกาศผลรอบแรกออกไป น้องๆ สามารถสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้ดีและน่าสนใจเกินกว่าที่เราคิดไว้ด้วยซ้ำ” 

อีกหนึ่งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการออกแบบโดยเฉพาะก็คือ ผศ.จิรัชญา วันจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะและการออกแบบพัสตราภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมาร่วมเป็นกรรมการในการตัดสินรอบนี้ กล่าวว่า “เด็กๆ หลายๆ คน หลายๆ ทีมก็มีมุมมองความคิดในประเด็นเรื่อง Ungendered ของตัวเองที่แตกต่างกันออกไป เป็นมุมมองในเจเนเรชั่นนี้ที่แตกต่างไปจากอดีต มีความน่าสนใจที่พยายามหามุมมองใหม่ๆ และสร้างงานออกแบบใหม่ๆ ออกมา หลักๆ ในการออกแบบเสื้อผ้าไอเดียความคิดจะต้องมาก่อน คอนเซ็ปต์ในการทำงานออกแบบคืออะไร ตอบโจทย์การประกวดในครั้งนี้ไหม และน่าสนใจไหม มีหลายทีมคอนเซ็ปต์ดี แต่ผลงานออกมาไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร การส่งผ่านไอเดียมาสู่งานออกแบบได้คือสิ่งสำคัญในการทำงานประกวดไม่ว่าจะโครงการไหนก็ตาม” 

ในขณะที่มุมมองของช่างภาพผู้ซึ่งคลุกคลีมีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับแฟชั่นและสตรีทสไตล์อย่างคุณคเชนทร์ วงศ์แหลมทอง บรรณาธิการภาพนิตยสาร HAMBURGER กล่าวว่า “ประเด็นหลักผมมองเรื่องความคิดสร้างสรรค์ก่อน ออกมาในรูปแบบที่เราไม่เคยเห็นในท้องตลาดไหม หรือมีการสไตลิ่งที่ดูสนุกน่าสนใจไหม ถ้าเป็นภาพถ่ายก็จะทำให้ดูมีความน่าสนใจ ความว้าวในวันนี้ก็คือผู้เข้าประกวดสามารถสร้างผลงานออกมาได้โดยที่ไม่อาย มีความกล้า กล้าทั้งการประดิษฐ์ การสไตลิ่ง กล้าแหกกฎหลายๆ อย่าง”

และคณะกรรมการคนสุดท้ายในการตัดสินรอบนี้ คุณชนิตตนัณท์ กาญจนสมวงศ์ สไตลิสต์จากนิตยสาร HAMBURGER กล่าวว่า “สำหรับทั้ง 25 ทีม อันดับแรกก็คือเซอร์ไพรส์จริงๆ บางทีมสามารถทำออกได้ในแบบที่สเกตช์ส่งมาเลย น้องมีความสามารถทำได้จริง หรือบางคนเพิ่งอยู่ ม.5 เองแต่ทำได้ขนาดนี้ สิ่งที่พิจารณาเป็นพิเศษในรอบนี้ส่วนตัวก็คือการที่สามารถนำของที่มีอยู่แล้วในตู้เสื้อผ้าเอามาตัดต่อ ตัดทอนให้เกิดเป็นแบบใหม่ มันทำให้ไม่อยู่ในกรอบเดิมๆ และใส่ได้จริงๆ ในชีวิตประจำวัน บางลุคต้องถามเลยว่าทำเองจริงๆ เหรอ เราเห็นแล้วยังอยากใส่เลย”