Editor’s Talk – #UNGENDERED

ถือเป็นประสบการณ์ที่สนุกสนานและน่าสนใจมากทีเดียว กับการประกวดโครงการ Street Fashion Stylist Award 2018 ในปีนี้ ภายใต้ธีม Ungendered #แฟชั่นไม่จำกัดเพศ ซึ่งศูนย์การค้า Union Mall ร่วมกับนิตยสาร HAMBURGER จัดขึ้นและประกาศผลผู้ชนะเลิศไปเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

  ผมมีโอกาสเข้าร่วมโครงการนี้ตั้งแต่การตัดสินรอบแรก ซึ่งมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดมากถึง 256 ทีม ความยากในรอบนี้สำหรับผมคือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าผลงานในรูปแบบภาพสเกตช์หรืองานคอลลาจของแต่ละทีมนั้นจะสามารถสร้างสรรค์ออกมาได้เหมือนและน่าสนใจเช่นเดียวกับภาพสเกตช์หรือภาพกราฟิกที่ส่งมา เรา—คณะกรรมการทั้ง 5 คนในวันนั้นคุยกันอยู่นาน สุดท้ายเราตัดสินใจกันว่าก็ต้องลองดู ถ้าทำออกมาได้จริง ทีมเหล่านั้นก็ได้เข้ารอบต่อไป ถ้าทำไม่ได้จริงก็ตกรอบไปตามระเบียบ 

  โชคดีที่เราตัดสินใจเช่นนั้น เพราะ ‘Nothing Is Wrong’ ทีมที่ชนะเลิศในปีนี้ เป็นอีกหนึ่งทีมที่ส่งผลงานในรอบแรกเป็นภาพกราฟิก

  การเป็นกรรมการไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่แค่การให้คะแนน แต่เป็นการตัดตัวเลือกให้เหลือเพียงจำนวนในการเข้ารอบต่อไปตามที่ตั้งไว้ ในการตัดสินรอบสองเพื่อคัดจาก 25 ทีมให้เหลือเพียง 5 ทีม ผมจึงยกตำแหน่งที่น่าหนักใจนี้ให้กับ วิว ชนิตตนัณท์ สไตลิสต์ของ HAMBURGER และคเชนทร์ วงศ์แหลมทอง บรรณาธิการภาพของ HAMBURGER รับหน้าที่นี้ไป แต่ถึงอย่างนั้นในช่วงคัดเลือกเหลือเพียง 5 ทีมสุดท้าย กรรมการทุกคน (รวมถึงผมด้วย) ก็นั่งกุมขมับ เพราะอยากให้น้องๆ เข้ารอบมากกว่า 5 ทีม สุดท้ายก็ต้องตัดใจให้เป็นตามกติกาเดิม

แต่ถึงอย่างนั้นทาง Union Mall ก็สุดแสนจะใจดี นำผลงานทั้ง 25 ทีมในรอบนี้มาจัดแสดงให้ได้ดูกัน 

  จากที่ได้คลุกคลีทำงานในโครงการนี้กับน้องๆ หลายๆ ทีมตั้งแต่รอบ 25 ทีมไปจนถึงรอบสุดท้าย ผมพบว่าแม้แฟชั่นในสไตล์ #Ungendered จะเป็นเทรนด์ที่มาแรงมาสักพักแล้ว (ซึ่งถือว่าผู้บริหารของ Union Mall มองการณ์ไกลและอ่านเกมเทรนด์แฟชั่นขาดจริงๆ ที่หยิบประเด็นนี้มาเป็นธีมในการประกวด) แต่ความหมายและรูปแบบของแฟชั่นในสไตล์ #Ungendered ก็ยังไม่ได้เป็นที่เข้าใจอย่างแพร่หลายและลึกซึ้ง หลายคนเข้าใจว่านี่คือการประกวดเพื่อส่งเสริม LGBTQ และอีกหลายคนก็เข้าใจไปว่า Ungendered นั้นคือการที่ผู้ชายเอาเสื้อผ้าผู้หญิงมาใส่ เช่น กระโปรง หรือผู้หญิงหันมาใส่สูทของผู้ชาย 

  ซึ่งสุดท้ายมันก็กลับมาเป็นขั้วทวิลักษณ์เช่นเดิม!

  Ungendered ไม่ใช่การแต่งหญิงหรือแต่งบอย ไม่ใช่แค่การสลับเสื้อผ้าที่เคยเป็นเอกลักษณ์ของเพศใดเพศหนึ่งมาสู่อีกเพศหนึ่ง แต่เป็นการสร้างเสื้อผ้าที่ไม่ติดอยู่ภายใต้กรอบเดิมๆ ของคำว่าเพศ ไม่มีหญิง ไม่มีชาย ไม่มีตุ๊ด เกย์ ทอม ดี้ หรืออะไรทั้งนั้น เพราะเสื้อผ้าก็เป็นเพียงเครื่องแต่งกาย ไม่จำเป็นต้องใช้คำว่าเพศในการสวมใส่ เพียงแค่ใช้คำว่าชอบ ไม่ชอบ ก็เพียงพอ

  เหมือนดังเช่นผลงานของทั้ง 5 ทีมในการประกวด Street Fashion Stylist Award 2018 ในครั้งนี้ ที่จะพาเราออกนอกกรอบของคำว่าแฟชั่นสำหรับหญิงหรือชาย แต่เป็นแฟชั่นสำหรับการสวมใส่โดยไม่จำกัดเพศ มากไปกว่านั้นลองอ่านบทสัมภาษณ์ทั้งดีไซเนอร์ นางแบบ แฮร์สไตลิสต์ แฟชั่นบล็อกเกอร์ นักร้อง อาร์ตไดเร็กเตอร์ ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางเพศ แต่เมื่อถามกลับไปสู่ประเด็นเรื่องสไตล์กับคำว่า Ungendered พวกเขากลับตอบด้วยน้ำเสียงเดียวกันโดยไม่ได้นัดหมายว่าเลิกจับทุกอย่างใส่กรอบเรื่องเพศเสียที

  จะว่าไปทุกวันนี้ก็เหลือแต่พวกเอกสารและแบบฟอร์มทั้งหลายนี่แหละ ที่ยังถามหาความเป็นนายหรือนางสาวอยู่ไม่รู้เลิก

สันติชัย อาภรณ์ศรี

บรรณาธิการบริหาร