Editor’s Talk – Soul Steady

ผมเชื่อว่าคอนเสิร์ต Bodyslam ที่จะกลับมาจัดที่ราชมังคลากีฬาสถานอีกครั้ง จะอัดแน่นไปด้วยผู้คนเต็มสนามเหมือนเมื่อครั้ง ‘Bodyslam Live in คราม’ เมื่อ 9 ปีก่อนแน่นอน และยิ่งเชื่ออย่างสนิทใจมากขึ้นว่าหากใครได้อ่านบทสัมภาษณ์ หรือฟังคลิปสัมภาษณ์ที่สมาชิกวง Bodyslam ทั้ง 5 คนพูดถึงโมเมนต์แห่งความทรงจำในการขึ้นคอนเสิร์ตของพวกเขา ต้องอยากจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโมเมนต์นั้นด้วยเช่นกัน ไม่ใช่เพียงเพราะว่า Bodyslam เป็นวงร็อกที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เพียงเพราะตูนวิ่งจากเบตงถึงแม่สายเพื่อหาทุนมอบให้โรงพยาบาล ไม่ใช่เพียงแค่ร่างกายที่พวกเขาทุ่มเทลงไปในสิ่งที่เขาเชื่อ แต่ทุกคำพูดของพวกเขายังแสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณทั้งในฐานะนักดนตรี และมนุษย์คนหนึ่ง อย่างที่ตูนเล่าว่า

“ตอนนั้นเราเพิ่งมาอยู่ค่ายจีนี่ เร็คคอร์ดส ‘Bodyslam Believe Concert’ จึงถือเป็นคอนเสิร์ตใหญ่คอนเสิร์ตแรกที่มีการขายบัตรในราคา 700 บาท แล้วเล่นที่ธันเดอร์โดม ซึ่งจุคนได้ประมาณ 7,000 คน ใครจะมาดูเรา ปรากฏว่าบัตร Sold Out และในวันคอนเสิร์ตก็เล่นอย่างมีความสุข 

สุดท้ายตอนลงมาจากเวทีก็เจอแม่ แม่ที่เฝ้ามองเราอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ และก็ยังคงอยากให้ผมลองสอบเนติบัณฑิตดูไหม เพื่อที่จะได้เป็นผู้พิพากษาหรืออัยการเขาก็ยังอยากให้เราได้ทำในสิ่งที่เรียนมา เพราะตอนทำ2 อัลบั้มแรกกับค่ายมิวสิค บั๊กส์ ที่แม้แต่ตัวเราเองก็ยังไม่เชื่อว่า Bodyslam จะสามารถหล่อเลี้ยงเราไปได้นานแค่ไหน แต่พอลงมาจากเวทีปุ๊บ แม่พูดกับผมว่าแม่เชื่อตูนแล้ว เราก็รู้สึกดีใจ เผลอๆ ดีใจมากกว่าการที่คนทั้งหมดในฮอลล์มาดูเราเสียอีก แค่แม่เชื่อเราก็พอแล้ว และสุดท้ายเราก็เชื่อตัวเองด้วย”

ผมอาจจะอินกับสิ่งที่ตูนพูดมากอยู่สักนิด เพราะประสบการณ์เราคล้ายกัน เรียนจบจากสาขาวิชาเดียวกัน และต้องพิสูจน์ตัวเองต่อครอบครัวเหมือนกันในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ซึ่งแตกต่างจากที่ร่ำเรียนมา แต่อย่างที่รู้ เรื่องราวของตูนก็มาจากชีวิตตูน เรื่องราวของผมก็มาจากชีวิตผม แต่บทพิสูจน์ในชีวิตแต่ละคนย่อมต่างกัน ทั้ง ‘บท’ และ ‘ผลลัพธ์’ แม้เรื่องราวส่วนตัวของตูนกับผมจะมีความคล้ายคลึงกัน แต่รายละเอียดและผลลัพธ์ก็ไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว

  จะว่าไป มันไม่มีอะไรการันตีได้เลยต่างหาก

  แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าให้เราหยุดต่อสู้เพื่อความเชื่อของตัวเอง ไม่ว่าคุณจะเชื่อมั่นในอะไรก็แล้วแต่ ชีวิต ความรัก ความฝัน หน้าที่การงาน การเมือง หรือสังคมในอุดมคติ ไม่มีใครบอกได้หรอกว่าความเชื่อนั้นผิดหรือถูก ใครเชื่อมากหรือเชื่อน้อยไปกว่ากัน พยายาม
มากหรือน้อยไปกว่ากัน เพราะอย่างไรก็ตามมาตรวัดมากหรือน้อยนั้นไม่ได้รับประกันถึงผลลัพธ์ใดๆ เลย

  แต่การที่คนคนหนึ่งได้ต่อสู้และพยายามเพื่อความเชื่อของเขามีอยู่เหมือนกัน นั่นก็คือเขาได้ทำและพยายามแล้ว และสิ่งที่เขาได้ทำและพยายามนั้นเกิดขึ้นแล้ว แม้ว่ามันจะเดินทางสู่ผลลัพธ์ของคำว่า ‘ประสบความสำเร็จ’ หรือไม่ มากหรือน้อยแค่ไหนก็ตามที

ลองคิดดูก็ได้ว่าถ้าตูน Bodyslam บาดเจ็บตั้งแต่ประจวบฯ แล้ววิ่งต่อไม่ได้อีกเลย คุณจะคิดว่าเขาไม่ประสบความสำเร็จหรือ?

  ผมว่าไม่นะ…ผมว่าสิ่งที่เขาเชื่อ ลงมือทำ และพยายาม มันได้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่เขาคิด และก้าวเท้าแรกออกสู่ท้องถนนในเบตง

สันติชัย อาภรณ์ศรี

บรรณาธิการบริหาร