Editor’s talk – Put your money where your mouth is

  “หลานจะย้ายโรงเรียนนะ ค่าเทอมแพงขึ้น และมีค่าแป๊ะเจี๊ยะด้วย” ไม่แน่ใจว่านี่คือประโยคบอกเล่าจากแม่ หรือคำสั่งประกาศิต ที่บอกกลายๆ ว่าช่วยออกค่าเทอมและค่าแป๊ะเจี๊ยะให้หลานด้วย

  หลานของผมวัยย่าง 6 ขวบ กำลังจะขึ้นชั้น ป.1 เพิ่งจะจบการศึกษาชั้นอนุบาลฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยงานรับใบ…อืม จะเรียกว่าใบอะไรดี ปริญญาก็ไม่ใช่ ใบที่บอกว่าจบอนุบาลฯ น่ะ แต่กิจกรรมในวันนั้น รวมไปถึงการแต่งหน้า ทำผม (เด็กอนุบาลฯ) ชุดครุย (เด็กอนุบาลฯ) ภาพถ่ายตอนรับใบจบฯ ช่อดอกไม้ งานเลี้ยง ฯลฯ ดูเป็นภาพจำลองงานรับปริญญาของหนุ่มสาว ในรั้วมหาวิทยาลัยเปี๊ยบ คำว่าจำลองนั้นหมายถึงเล็กลง ขนาดย่อม แต่ค่าชุดครุย แต่งหน้า ทำผม และช่อดอกไม้นั้น ราคา ไม่ได้ย่อมไปด้วยเลย

  ทีแรกก็นึกว่าเป็นแค่โรงเรียนของหลาน แต่ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน เพื่อนคนหนึ่งก็ส่งรูปหลานตัวเองในงานวันเดียวกัน แต่เรียนที่โรงเรียนอื่นมาให้ดูพร้อมคำโอดโอย ซึ่งปรากฏว่า เหมือนกันเปี๊ยบ! 

  โรงเรียนใหม่เป็นโรงเรียนรัฐบาล แต่สอนระบบไตรลิงกวล มีภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน ค่าเทอมของหลานที่แพงกว่าค่าเทอมที่ผมเรียนจบปริญญาตรีสี่ปีรวมกันนั้น ครอบคลุมไปถึงการเรียนว่ายน้ำ หรือจะเลือกเรียนเทควันโดก็ได้ เรียนภาษาพิเศษนอกเหนือจากในห้องเรียน เรียนดนตรี (ลืมถามว่ามีเปียโนไหม) กิจกรรมสันทนาการ ฯลฯ แต่ไม่รวมโอกาสพิเศษอื่นๆ เช่น งานวันพิเศษ กีฬาสี ทัศนศึกษา ฯลฯ

  มีคนพูดบ่อยๆ ว่าทำไมต้องเลี้ยงลูกตามค่านิยมสังคมในปัจจุบันที่จะต้องให้มีทุกอย่าง เป็นทุกอย่าง ทำทุกอย่างด้วย แน่นอนว่ามันฟังดูมีความจริงอยู่ในนั้น แต่เหล่าพ่อแม่รวมถึง พี่ป้าน้าอาย่ายาย ผู้ซึ่งเคยผ่านโลกมาแล้ว รู้ว่าภาษาอังกฤษที่ดีเลิศกว่าคนอื่นนั้นทำให้ได้เปรียบหลายด้าน รู้ว่าการได้ร่ำเรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดังนั้นเป็นใบเบิกทางชั้นดีสำหรับหน้าที่การงานในอนาคต และนั่นคือคำตอบที่ว่าทำไมเรายังเดินตามค่านิยมของสังคมปัจจุบันอยู่ เพราะมันมีเปอร์เซ็นต์ในการการันตีอนาคต ซึ่งวัดจากประสบการณ์ของผู้ที่ผ่านมาแล้ว และแน่นอนว่า…เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล

  เด็กไม่รู้อะไรหรอก…จนกว่าจะได้ทดลอง ได้รู้จักตัวเองว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร อยากเป็นอะไร ไม่อยากเป็นอะไร เพียงแต่ว่าเมื่อไรล่ะ แล้วพ่อแม่ต้องใช้เงินในการที่จะให้ลูกได้รู้จักตัวเองไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว 

  ผมเองเรียนสายวิทย์-คณิตฯ มา เรียนพิเศษวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีวะ และคณิตศาสตร์ตั้งแต่ชั้น ม.4 จนถึง ม.6 เรียนซัมเมอร์ล่วงหน้าในทุกๆ ปิดภาคเรียน นับเป็นเงินทั้งหมดก็…หลายอยู่ พ่อแม่ภูมิใจหนักหนาที่ลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัยระดับท็อปของประเทศได้ แต่หารู้ไม่ว่าคะแนนที่ยื่นเข้านั้นมีแค่วิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา และคณิตศาสตร์ 2 ซึ่งไม่ใช่วิชาที่เสียเงินเรียนพิเศษเลยสักบาท ทุกวันนี้ก็ยังไม่กล้าบอกแม่…กลัวแม่เสียดายเงิน ซึ่งท่านคงพอจะรู้หลังจากที่ส่งเสียเรียนให้ผมเรียนกฎหมาย แต่เมื่อจบมาแล้วสุดท้ายก็ไม่ได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาทำมาหากินสักนิดเดียว

ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้มาในชีวิต ไม่มีอะไรได้มาโดยไม่ใช้ความพยายาม ไม่ว่าจะพยายามด้วยเรี่ยวแรง ความคิด หรือพยายามด้วยเงินเพื่อให้มีโอกาสได้เรียนรู้ได้ทดลองก็ตามที และอย่าไปเปรียบเทียบเลยว่าอะไรมีคุณค่ามากกว่ากัน เพราะกว่าจะได้เงินมาก็ต้องลงแรงไม่ใช่หรือ 

คงเหมือนกับสาวสวยหน้าหวาน “ณิชา-ณัฏฐณิชา ดังวัธนาวณิชย์” นักแสดงหญิงดาวรุ่งบนปกของเราฉบับนี้ ที่ใครๆ ต่างก็เริ่มบอกว่าฝีมือการแสดงของเธอนั้นพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เธอบอกว่าเธอไม่รู้หรอกว่าเป็นนักแสดงจะต้องทำยังไง แต่รู้ว่ามีคอร์สสอนด้านการแสดง เธอยังแสดงไม่เก่งก็ต้องไปเรียน ช่องไม่ส่งให้ไปเรียน ก็เสียเงินไปเรียนเองก็ได้ เรียนมาแล้วถ้ายังรู้สึกว่าไม่เก่งก็ต้องทำการบ้าน ขยันท่องบท ทำความเข้าใจบท บางอย่างมาด้วยพรสวรรค์ บางพรสวรรค์ก็เกิดจากพรแสวง และพรแสวงก็ไม่ได้ด้อยค่าไปกว่าพรสวรรค์เลย 

  เรามักจะให้คุณค่าด้านลบกับสิ่งที่มีเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังเช่นทำไมต้องเดินตามค่านิยมของสังคมที่ทุ่มเงินเพื่อสร้างให้เด็กเก่ง ฉลาด มีอนาคตที่ดี ไม่รู้ทำไมในเมื่อผลลัพธ์ปลายทาง ก็คือเงิน อยากให้เด็กโตมา เก่ง ฉลาด มีงานที่ดีและรวยๆ การเป็นคนดีของสังคมมันไม่เพียงพอหรอก และส่วนมากพ่อแม่ที่พูดคำนี้ก็เพราะเขาไม่ห่วงแล้วว่าลูกจะมีเงินหรือไม่มีเงิน เพราะพ่อแม่มีให้อยู่แล้วไม่ต้องรอลุ้น แต่การเป็นคนดีน่ะมันยังต้องวัดดวงในอนาคต

  และถ้ามันคือการลงทุน คิดว่ามีเงินหรือกล้าเสี่ยงพอที่จะลงทุนก็รอดูผลลัพธ์กันในอนาคต และอย่างที่รู้…ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง แม้กับลูกหรือคนรักก็ตาม

สันติชัย อาภรณ์ศรี

บรรณาธิการบริหาร