Editor’s talk – Poker Face

คุณเคยเล่นควิซว่าตัวเองเป็นสัตว์ประเภทไหนและมันสะท้อนบุคลิกอะไรของคุณหรือเปล่า? ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบเล่นควิซมาก ก่อนที่จะรู้ว่าเว็บไซต์เหล่านี้ นอกจากจะมีควิซสนุกๆ (ที่อย่าไปเอาจริงเอาจังกับผลลัพธ์มาก) แล้ว ยังคอยดักจับข้อมูลส่วนตัวของเราอีกด้วย นั่นแหละถึงทำให้เลิกเล่น

   ว่าแต่…คุณได้เป็นสัตว์อะไรกันบ้าง?

บางครั้งเราก็นึกไม่ออกว่าบุคลิกหรือคาแร็กเตอร์บางอย่างที่ ‘เป็นเรา’ นั้น มันมาจากไหน ตั้งแต่เมื่อไร ไอ้ท่าใช้หางตาเหลือบมองสุดเย่อหยิ่งและน่าตบนั้น หรือดวงตาหยาดเยิ้มประหนึ่งตกหลุมรักทุกอย่างที่สะท้อนอยู่ในกระจกตา ที่ทำให้ใครต่อใครเข้าใจผิดไปว่ากำลังเฟลิร์ตด้วย แม้กระทั่งต้นไม้ที่ระเบียงหรือถ้วยบิงซูในร้าน Hollys แต่สิ่งเหล่านี้แหละที่ประกอบกันขึ้นเป็นเรา เราที่บางครั้งเราเองก็ชอบ บางครั้งก็ไม่ชอบ เราที่บางคนก็ชอบและไม่ชอบ

ผมเองก็ไม่รู้ตัวว่าไอ้สีหน้าที่ทำให้รู้สึกว่าโกรธเกลียดทุกอย่างในจักรวาลทั้งมิติบนโลกใบนี้และอีกสี่มิติในแบบหนังเรื่อง Interstellar นั้น ได้มาสิงสถิตอยู่กับตัวเองตั้งแต่เมื่อไร จนเมื่อครั้งเรียนมัธยมฯ ในขณะที่กำลังนั่งดูการแข่งขันบาสเกตบอลกับเพื่อน จู่ๆ ก็มีเพื่อนจากห้องอื่นเดินมาเรียก บอกว่ามีอะไรจะคุยด้วย ขอลงไปคุยข้างล่าง แต่พอไปถึงปรากฏมีนักเรียนอีก 4-5 คนจากอีกห้องเข้ามาล้อมและตะลุมบอนผมโดยไม่ทันตั้งตัว เหตุการณ์นั้นจบลงด้วยความสามารถในการเอาตัวรอดฝ่าวงล้อมออกมาได้โดยไม่เจ็บตัว ก่อนจะส่งเพื่อนตัวเองที่รู้จักกับคนกลุ่มนั้นไปเคลียร์ เพื่อยืนยันว่า “มันไม่มีอะไรหรอก หน้ามันเป็นอย่างนี้แหละ”

แต่ถึงจะเคยผ่านเหตุการณ์แบบนั้นมาแล้ว ปัจจุบันสีหน้าอันเป็นเอกลักษณ์และสุ่มเสี่ยงในการถูกเข้าใจผิดจนถึงขั้นลงมือลงไม้ ก็ยังคงประดับอยู่บนใบหน้าของผม

เรากลัวการเข้าใจผิดในสิ่งที่เราถูกเห็นและถูกตีความไปเองมากน้อยแค่ไหน ผมนี่ล่ะเคยเป็นคนหนึ่งที่กลัวมาก กลัวคนเข้าใจผิดไปว่าเราหยิ่ง กลัวคนเข้าใจผิดไปว่าเราร้าย กลัวคนเข้าใจผิดไปว่าเราคิดไม่ดี ทำไม่ดี หากความกลัวนี้มันทำให้เราระมัดระวังในทุกการกระทำของตัวเองเพื่อสร้างสิ่งดีๆ ออกไปมันก็คงเป็นความกลัวที่มีประโยชน์ แต่หากความกลัวนั้นมันทำให้เราหมดความมั่นใจ ไม่กล้าที่จะสู้เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องบางอย่าง หรือแม้กระทั่งหาตัวตนของตัวเองไม่เจอ มันคงเป็นเรื่องเจ็บปวด

มันก็คงขึ้นอยู่กับว่าเราแคร์การถูกเห็นถูกตีความและนำไปสู่ความเข้าใจผิดนั้นมากน้อยแค่ไหน และมันส่งผลกระทบต่อเรามากน้อยเพียงใด

เมื่อไม่นานมานี้ ผมเพิ่งได้รู้ว่าเหตุการณ์หนึ่งในอดีตของตัวเองที่เกิดจากการชอบล้อเล่น ชอบอำ ชอบพูด ชอบเขียนอะไรแบบงงในงง Inception ใน Inception ซึ่งปกติจะมีทั้งคนที่เข้าใจและไม่เข้าใจ ถูกนำไปตีความและเข้าใจผิดไปไกล จนเรียกได้ว่าต้องพูดกับตัวเองว่า ‘เหรอวะ’ แต่กว่าจะรู้ก็ล่วงเลยมาเป็นปีแล้ว ตอนรู้ก็รู้สึกนอยด์เหมือนทุกครั้งที่กลัวคนไม่เข้าใจเรา แต่เมื่อกลับมาคิดอีกที ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาที่เราไม่รู้เลยว่าเรื่องนี้มันแพร่สะพัดไปมากแค่ไหน ใครต่อใครรู้และเข้าใจผิดกันไปหมด เราก็ไม่เห็นจะรู้สึกรู้สาอะไรเลย ก็สบายดี จะมารู้สึกเมื่อรู้ในขณะที่เหตุการณ์ผ่านไปหมดแล้วทำไม และความเข้าใจผิดนั้นมันก็ไม่ได้สร้างความเสียหายอะไรเลย นอกจากความเสียหายที่ใจเราเองเมื่อเรา ‘รู้สึก’

การถูกตัดสินจากการเห็นและถูกตีความไปเองคงเป็นความเซ็งที่ทุกคนได้เจอ โดยเฉพาะในโลกโซเชียลมีเดียที่มีช่องคอมเมนต์ในทุกวันนี้ ไม่สวยก็โดนด่า หรือสวย หุ่นดี และเซ็กซี่อย่าง ‘ยิปซี-คีรติ มหาพฤกษ์พงศ์’ นางเอกสาวบนปกของเราในฉบับนี้ก็ยังโดนด่าเลย และไม่ใช่เพิ่งจะเจอ ยิปซีเจอมาตลอดชีวิตของการเป็นคนมีชื่อเสียง เพราะเธอนี่แหละคือรุ่นแรกของคำว่าเน็ตไอดอล แม้ว่าตอนนี้เธอจะหาจุดสมดุลระหว่างสิ่งที่คนอื่นเห็นและตีความไปเองกับตัวตนของตัวเองจริงๆ โดยไม่ต้องมาเจ็บปวดมานอยด์กับคำวิจารณ์ และไม่ต้องคิดว่าอยากจะให้คนทั้งโลกเข้าใจแล้ว 

แต่กว่าจะเดินทางมาถึงจุดนี้ ก็คงเจ็บปวดมาไม่น้อยกับการที่ยังหาจุดสมดุลไม่ได้ว่าจะต้องแคร์คนอื่นแค่ไหน และแคร์ตัวเองแค่ไหน อย่างไร

ผมเองแม้จะยังหาจุดสมดุลได้บ้างไม่ได้บ้าง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และสติสัมปชัญญะที่มักจะหลุดหายไปเป็นช่วงๆ แต่ก็พอจะเข้าใจโลกมากขึ้นว่ามันไม่ได้มีแค่สองฝั่งเพียวๆ และเราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวโดยที่ไม่ต้องไปปฏิสัมพันธ์กับใคร หรือจะเรียกร้องให้ใครเข้าใจเราได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ทุกโอกาส เพราะโลกนี้คือละคร เราก็แค่เล่นให้เป็นว่าวันนี้ ตอนนี้จะสวมบทอะไร กับใคร

เพราะฉะนั้นอย่ากราดเกรี้ยวไปว่าทำไมเมืองไทยถึงมีร่างทรงเยอะนัก ตัวเราเองก็ควรมีร่างทรงบ้าง หลายๆ ร่าง เพียงแต่เลือกร่างทรงที่ดีๆ หน่อย อย่ารำเยอะ อย่าถือดาบหรืออาวุธ แต่ถ้าจำเป็นเหน็บมีดไว้ที่หลังด้วยก็ดี

สันติชัย อาภรณ์ศรี

บรรณาธิการบริหาร