Editor’s Talk – Experience is the mother of wisdom

ผู้คนมักจะถามผมเสมอเมื่อทราบว่าผมเรียนจบจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ทำไมมาทำงานในวงการสื่อสารมวลชนได้ และยิ่งเมื่อได้รู้ว่าก่อนที่จะก้าวมาทำงานเขียนบทความเกี่ยวกับแฟชั่นเป็นหลักอย่างทุกวันนี้ ผมเคยทำงานด้านการเมืองมาก่อน ก็มีอีกหลายคำถามตามมาอีกมากมาย

  ช่วงมัธยมฯ ปลาย ผมกะจะสอบโควตาเข้าคณะแพทยศาสตร์ หนึ่งในข้อกำหนดในการสมัครก็คือเราจะต้องผ่านการฝึกงาน/ดูงานที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 7 วัน ผมเริ่มต้นวันแรกที่แผนกฉุกเฉินที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ภาพของผู้ป่วยจากอุบัติเหตุที่อาบไปด้วยเลือด ไม่มีใครว่างพอจะคุยกับเรา สอนเรา สิ่งที่เราทำได้ก็คือยืนดูอยู่อย่างเงียบๆ และไม่ทำตัวเกะกะกีดขวางการทำงานของแพทย์ หลังจากจบการฝึกงานวันที่ 7 ในแผนกผ่าตัด ซึ่งเราโชคดีมีโอกาสเข้าไปดูคุณหมอผ่าคนไข้จริง สวมใส่ชุดผ่าตัดจริงของคุณหมอ แอบฟังคุณหมอคุยกันในห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า แม้ว่าตอนนั้นจะยังไม่เข้าใจว่าทำไมคุณหมอต้องอัดบุหรี่เข้าปอดมากมายขนาดนั้นก่อนจะเดินสู่ห้องผ่าตัดก็ตาม

  แต่สุดท้าย…ผมก็สอบไม่ติดหมอคนและหันเหมาเรียนหมอความแทน 

  ผมไม่ได้ชอบนิติศาสตร์ แผนแรกก็คือเรียนไปก่อนและใช้ช่วงเวลา 1 ปีแรกในการอ่านหนังสือไปด้วยเพื่อเตรียมสอบแพทย์ใหม่อีกครั้งในปีถัดไป แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าจะไม่ตั้งใจเรียน ไม่ตั้งใจอ่านหนังสือสอบเลย เมื่อผลการเรียนเทอมแรกออกมาปรากฏว่าได้คะแนนเป็นที่น่าพอใจ และผมก็ไม่ได้รู้สึกต่อต้านองค์ความรู้หรือวิธีคิดทางกฎหมาย มากกว่านั้นกระบวนการการคิดและตีความยังสอนให้เรามีขบวนการใช้ความคิดที่ถี่ถ้วนและเป็นระบบระเบียบมากขึ้น ผมจึงตัดสินใจเรียนกฎหมายต่อและเรียนจบภายใน 3 ปีครึ่ง

  ระหว่างเรียนนิติฯ ผมมีโอกาสได้ทำกิจกรรมอีกมากมาย เป็นนักศึกษาที่ได้ชื่อว่าฟ้องร้องมหาวิทยาลัยในคดีปกครองคนแรก เป็นผู้นำกิจกรรมสันทนาการของคณะ ทำคดีโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอกบ้านกรูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และท่อก๊าซไทย อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ทำนิตยสารภายในมหาวิทยาลัย ประกวดร้องเพลง TU Band (ตกรอบแรก) เขียนบทและทำละครเวทีของคณะ ทำหนังสั้นส่งประกวด ฯลฯ 

  แม้สิ่งที่ทำมาทั้งหมดในช่วงวัยนักศึกษาจะไม่ได้บอกใบ้มีความใกล้เคียง หรือทำให้เห็นถึงเส้นทางการทำงานของตัวเองที่วันหนึ่งในอนาคต—จะต้องไปนั่งดูแฟชั่นโชว์ หรือการก้าวเข้ามาทำงานที่นิตยสาร HAMBURGER ได้เลยก็ตามที 

  สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ ประสบการณ์ทั้งหลายเหล่านั้น มันไม่ได้เป็นบทสรุปของชีวิตเสียทีเดียวว่าเราจะต้องอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือยึดมันเป็นอาชีพไปตลอดชีวิต มันเป็นเพียงบททดสอบให้เราได้เห็นถึงความชอบ ไม่ชอบ และอีกหลากหลายแง่มุมที่เกิดขึ้นผ่านประสบการณ์ แม้กระทั่งชอบก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้อยู่กับมัน หรือไม่ชอบก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถหนีไปจากมันได้เลย แต่มันจะค่อยๆ ตกตะกอนให้เราได้เห็นตัวตนของเราชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งความคิด การจัดการกับชีวิต และความเป็นจริง แม้ว่าในวันหนึ่งเราอาจจะเดินไปสู่การทำงานหรือสาขาอาชีพที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ที่ผ่านมาเลย แต่สิ่งที่ผ่านมาเหล่านั้นได้สั่งสม ได้หล่อหลอมความคิดและตัวตนของเราในการทำงาน ในการมองโลก ในการใช้ชีวิตไปแล้ว ที่สำคัญกระบวนการเหล่านั้นไม่ได้หยุดหรือจบลง แต่มันยังคงพัฒนาต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ในทุกวัน จนกว่าเราจะไม่ได้คิดหรือไม่ได้ทำอะไรแล้ว ซึ่งนั่นก็คือในวันที่เราหมดลมหายใจ

  ก็คงเหมือนกับน้องๆ นักศึกษา ‘Honda Smart Idol 2018’ บนปกของเราฉบับนี้ ที่ต่างมีความมุ่งมั่น ความสามารถ และความสนใจที่แตกต่างหลากหลาย การเข้าร่วมโครงการ Honda Smart Idol ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนอยากจะเป็นพริตตี้ หรือเป็นเซลขายรถ และโครงการนี้ก็ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อปลุกปั้นสิ่งนี้เพียงอย่างเดียว แต่ประสบการณ์ระหว่างทางต่างหากคือสิ่งที่ตัวโครงการมอบให้ และเป็นสิ่งที่มีความหมายสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการทุกคน  

  แม้เราจะยังไม่รู้ว่าเราอยากทำอะไร แต่การผ่านประสบการณ์มากมายทั้งดีและไม่ดี อย่างน้อยมันจะทำให้เรารู้ว่าเราไม่อยากทำอะไรหรืออยากเป็นอะไร และนั่นอาจจะเป็นประโยชน์มากกว่า 

  แม้บางทีสิ่งที่เราอยากเป็น อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นในชีวิตก็ได้

 

สันติชัย อาภรณ์ศรี 

บรรณาธิการบริหาร