Editor’s Talk – Digital Mind

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในวงการสื่อสารมวลชน เราจะได้ยินคำว่า ‘Digital’  พอๆ กันกับคำว่า ‘Disrupt’ แล้วมันไม่ได้ Disrupt แค่การทำงานนะ มัน Disrupt ไปถึงเวลานอน เวลากิน วันหยุด วันลาพักร้อน ฯลฯ เชียวล่ะ 

โดยเฉพาะสื่อที่มีพื้นฐานมาจากกระดาษอย่างเรามักจะได้รับการตอกย้ำอยู่ตลอดเวลาว่าเราต้องเทิร์นสู่การเป็นสื่อดิจิทัลให้ได้ เราต้องคิดแบบสื่อดิจิทัล ทำงานแบบสื่อดิจิทัล ทำคอนเทนต์แบบดิจิทัล ทุกๆ การประชุม การเปลี่ยนแปลง รายละเอียดของการทำงาน จะมีคำว่า Digital-Digital-และ Digital อยู่ในเกือบทุกประโยค ในขณะเดียวกัน ความพยายามที่จะ ‘เทิร์น’ สู่ดิจิทัลนั้น เราก็จะถูก Disrupt-Disrupt-แล้วก็ Disrupt เป็นระลอก ประหนึ่งคำว่า ‘Disrupt’ และชีวิตที่ถูก Disrupt จะเป็นของแถมมาจากคำว่า ‘Digital’ 

มันมีปรัชญาการทำงานหลากหลายแบบที่มีการสั่งสอนและถ่ายทอดต่อกันมา ทั้ง “เมื่อเราทำงานที่เรารัก เราจะไม่ได้รู้สึกว่าทำงานเลย” “เวลางานคือเวลางาน เวลาพักผ่อนคือเวลาพักผ่อน” “งานไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต” “งานหนักไม่เคยฆ่าใคร” ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ยังคงความหมายด้วยตัวของมันเองอยู่ แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อการทำงานโดยเฉพาะองค์กรที่ต้องเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัลอย่างสื่อมวลชน ปรัชญาการทำงานหลายอย่างถูกกวาดล้างทำลายโดยการเข้ามาแทนที่ของโลกดิจิทัล มันกลายเป็นว่าเราต้องมาตั้งหลักกันใหม่หมดทั้งความเชื่อและวิธีการ มารีวิวกันใหม่ว่าสิ่งที่เราเชื่อ ยึดถือ หรือเคยปฏิบัติมานั้น มีอะไรบ้างที่ยังใช้ได้ หรือมีอะไรบ้างที่ต้องละทิ้ง หากเราจะเดินทางสู่การเป็นคน (ทำงาน)ในโลกดิจิทัลอย่างแท้จริง 

หรือแม้แต่หากเราจะปฏิเสธมัน แล้วชิง Disrupt โลกดิจิทัลกลับบ้าง เราจะทำอย่างไร

ประเด็นเหล่านี้เป็นที่พูดถึงในหมู่เพื่อนคนทำงานด้วยกัน โดยเฉพาะเจเนเรชั่นกลางเก่ากลางใหม่ในรุ่นของผม ผู้ที่ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับโลกดิจิทัลในทันที แต่เป็นเจเนเรชั่นที่คาบเกี่ยวหรืออยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน ทั้งในด้านการใช้ชีวิตหรือการทำงาน เราค้นพบกันว่าที่เรามักบ่นว่าทำไมเด็กสมัยนี้ถึงเล่นมือถือตลอดเวลา แต่ในขณะเดียวกัน หากมีข่าวดราม่าในโลกโซเชียลฯ จะเป็นเราเองที่ต้องมานั่งถามนั่งตามว่าจุดเริ่มของเรื่องมันมาจากไหนนะ หรือที่เขาดราม่ากันมันคืออะไร คนนั้นเป็นใคร ในขณะที่เด็กรุ่นใหม่ที่เรามักบอกว่าอยู่แต่กับมือถือนั้นเขาอาจจะขยับไปสู่ดราม่าเรื่องใหม่ไปแล้ว 

นั่นอาจจะฟังดูเป็นเรื่องไร้สาระ…แต่เมื่อหันกลับมาดูที่การทำงาน เราจะเห็นว่าเพราะอย่างนี้นี่ไง เด็กในเจเนเรชั่นใหม่ถึงตื่นเต้นตื่นตัวกับปรากฏการณ์ในสังคมอย่างเร็วด่วน เขาเห็นข่าวปุ๊บ รายงานปั๊บ แชร์ทันที หรือว่าทำข่าว ทำโพสต์ทันที โดยมิพักต้องสนใจว่าเรื่องนั้นกำลังเกิดขึ้นในช่วงตีสองของวัน (ที่มันเป็นเวลาพักผ่อนของเรา) ไม่ใช่เวลาทำงาน แต่โลกนั้นกลายเป็นโลกที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่เกินครึ่งหนึ่งของชีวิตจริงๆ ไปแล้ว

แล้วเราล่ะ อยู่ในโลกเดียวกันกับเขาไหม…

คำถามนี้น่าจะเป็นคำถามใหญ่สำหรับคนกลางเก่ากลางใหม่ที่ต้องทำงานอยู่ในโลกที่เรียกว่าดิจิทัล ซึ่งหลายคนแม้กระทั่งผมเองก็เคยตั้งคำถามกับตัวเองว่าหรือโลกดิจิทัล การทำงานในโลกดิจิทัล มันควรจะเป็นพื้นที่ของเจเนเรชั่นที่เกิดมาพร้อมกับโลกดิจิทัลอย่างแท้จริง เพื่อที่จะขับเคลื่อนมันไปได้อย่างดี แน่นอนว่าหากคุณได้เห็นข่าวหลายๆ องค์กรที่พยายามปรับโครงสร้างเพื่อเข้าสู่การทำงานในโลกดิจิทัลเต็มตัว คำถามนี้คือคำตอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น

แต่สำหรับผม คำถามที่ใหญ่และสำคัญต่อตัวเอง—คนรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ก็คือ…แล้วเราจะอยู่ในโลกเดียวกันกับเขาอย่างไร

สันติชัย อาภารณ์ศรี

บรรณาธิการบริหาร