พอรู้ว่าจะได้ถ่ายปก ‘พี่อ้อม’ สุนิสา สุขบุญสังข์ ทีมงานทั้งหมดของเราก็เริ่มต้นการทำงานด้วยการเปิดเพลงพี่อ้อมลั่นห้อง พร้อมเสิร์ชหารูปเก่าๆ สมัยวัยทีนของพี่อ้อมมาดูกันอย่างสนุกสนาน คงไม่ต้องบอกช่วงอายุของทีมงานหรอกนะว่าวัยไหน แต่เอาเป็นว่าสำหรับพวกเรา พี่อ้อมก็เป็นเหมือนศิลปินเกาหลีของเด็กสมัยนี้นั่นแหละ
เพราะฉะนั้นเราจะไม่ขอออกความคิดเห็นเรื่องกระแส K-POP ของเด็กรุ่นใหม่แม้แต่นิดเดียว
และช่างเป็นความบังเอิญ จากฉบับที่แล้วเรานำเจมี่เจมส์ ขึ้นปก ต่อยอดประเด็นเรื่องผู้ชายแต่งหน้า ผู้ชายใส่เสื้อผ้าผู้หญิงก็ไม่เห็นแปลก ในฉบับนี้เราได้พี่อ้อมมาขึ้นปกในประเด็นที่มีความคล้ายคลึงกัน และจับพี่อ้อมมาแต่งหน้า สาดอายแชโดว์ ปัดแก้ม เติมไฮไลต์เต็มที่ ในแบบที่พี่อ้อมยังบอกเลยว่า “นี่น่าจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ครั้งกับการแต่งหน้าที่เข้มที่สุดในชีวิตแล้ว”
ใช่...พี่อ้อมแต่งหน้า แล้วมันแปลกตรงไหน
มันไม่แปลกหรอก และเราก็ไม่ได้อยากทำให้มันแปลกด้วย ต่อให้มันจะแปลกเราก็ไม่รู้สึกอะไรกับคำคำนี้ สำหรับเรา คำว่า ‘แปลก’ ในแง่นึงมันเกิดจากการไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ มันเกิดจากการสร้างกรอบและการจำกัดความที่ตายตัว จนทำให้คนหลายคนที่ไม่อาจอยู่ในกรอบนั้นกลายเป็นสิ่งแปลกปลอม ไม่เข้าพวก ภายใต้นิยามของคำว่า ‘แปลก’
แม้ในปัจจุบัน คำว่าแปลกหรือแตกต่าง ได้กลายมาเป็นแผนมาร์เก็ตติ้ง กลายมาเป็นจุดเด่นในเชิงบวกมากขึ้น แต่ถามว่ามากน้อยแค่ไหน...มันก็ยังน้อยอยู่ดี และกว่าความแปลกนั้นจะได้รับการยอมรับว่าเป็นความเก๋ คนเหล่านั้นต้องผ่านความเจ็บปวดมาแค่ไหน กับการถูกตัดสิน กับความรู้สึกของการถูกนิยามว่า ‘แปลก’
คงเหมือนกับเพลง ‘Creep’ ของ Radiohead จากปี 1992 ที่ยังคงคลาสสิกด้วยความรู้สึก
แปลกแยกที่เจ็บปวดภายใต้คำว่า ‘แปลก’ Thom Yorke เขียนเพลงนี้ในปี 1987 ในขณะที่เขายังเป็นนักศึกษาอยู่ที่ University of Exeter ด้วยความรู้สึกที่ว่า
“ผมมีปัญหาจากการเป็นผู้ชายในยุค 90s จริงๆ...ผู้ชายคนใดที่มีความอ่อนไหวหรือมีมโนธรรม มีความยับยั้งชั่งใจต่อเพศตรงข้าม จะมีปัญหาในการยืนยันความเป็นผู้ชายของตัวเองต่อสังคมในยุค 90s โดยเฉพาะเมื่อคุณอยู่ในวงดนตรีฮาร์ดร็อก มันเป็นเรื่องยากมากที่จะทำอย่างนั้น”
ผลลัพธ์ดังกล่าวออกมาเป็นเพลงที่เหล่าคนที่เรียกตัวเองว่า Creep หรือ Weirdo ทั้งหลายรู้สึกว่าเพลงนี้คือบทกวีที่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกที่ปะทุคุคั่งในใจเขาได้ มันไม่ใช่การบอกเล่าเชิงน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่ใช่การร้องขอความเห็นใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่การตะโกนด่าทอผู้ใด นั่นเองจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเพลงเพลงนี้ถึงได้คงความหมายและความคลาสสิกมาจนถึงทุกวันนี้ และผ่านการตีความของนักร้องหลากหลายที่นำเพลงนี้กลับมาร้องใหม่ตลอดเวลา และหนึ่งในเวอร์ชั่นที่ผมชอบก็คือเวอร์ชั่นของ Kimberly Nichole ในรายการ The Voice
เมื่อพูดถึงเรื่องความแปลกแตกต่าง หลายคนมักพูดถึงความมั่นใจว่าเราต้องสร้างความมั่นใจให้ตัวเองก่อน ใช่—ในแง่นึงมันเป็นกระบวนการเยียวยาและรักษาตัวเอง แต่ใครล่ะที่หยิบยื่นคำที่สร้างความเป็นอื่นนี้ให้กับคนอื่น แม้ใครๆ มักจะพูดว่าทุกอย่างเริ่มด้วยการเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่บางอย่างสังคมก็ต้องเปลี่ยนเช่นเดียวกัน ในการแปะฉลาก นิยาม หรือตัดสินคนอื่น
ไม่ใช่การโยนปัญหาที่คนคนนั้นไม่ได้สร้างแล้วให้คนนั้นแก้ แล้วมาบอกภายหลังว่ามันเป็นวิถีทางที่ง่ายที่สุด มันง่ายจริง...แต่ง่ายสำหรับคนที่โยนมันมาไงล่ะ

สันติชัย อาภรณ์ศรี