Editor’s talk – You Better Work B****

ทุกวันเวลามาออฟฟิศหรือกลับบ้าน ผมจะผ่านสวนสาธารณะสองแห่ง โดยเฉพาะสวนพรรณภิรมย์ตรงสะพานเอกมัยที่จะหนาแน่นไปด้วยผู้คนมาออกกำลังกายทุกเย็นไปจนถึงมืดค่ำ เที่ยงคืนตีหนึ่งตีสองก็ยังมีคนออกกำลังกายอยู่ ผมเฝ้าแต่บอกตัวเองว่าเสาร์-อาทิตย์ ฉันจะมาวิ่งจ๊อกกิ้ง ผ่านไป 4 ปี (ตั้งแต่ย้ายบ้าน) ยังไม่เคยเดินผ่านรั้วทั้งสองสวนเข้าไปดูเลยว่ามันเป็นอย่างไรบ้าง

ตอนเด็กจนเริ่มทำงาน ผมเป็นคนรูปร่างผอมมาก ผอมในแบบที่ใครเห็นมักจะสันนิษฐานว่าต้องเล่นยาแน่ๆ ทุกครั้งที่เจอด่านตรวจ มักถูกเรียกลงไปค้นตัวเสมอ ผมไม่ค่อยสนใจกับความผอมของตัวเองเท่าไร จนเมื่อเริ่มทำงาน ได้เจอดารานายแบบ เห็นภาพเหล่านั้นซ้ำๆ อยู่กับมันซ้ำๆ จนเกิดความรู้สึกว่าเราผอมไปจริงๆ ด้วย ทำไงดีล่ะ ช่วงเวลานั้นวัฒนธรรมฟิตเนสเพิ่งจะเข้ามาและยังไม่ฮิตเหมือนทุกวันนี้ สิ่งที่ได้รับคำแนะนำมาคือลองกินเวย์โปรตีนสิ เพื่อมันจะช่วยเพิ่มเนื้อหนังได้ 

ถังหนึ่งก็แล้ว สองถังก็แล้ว…ไม่มีอะไรเกิดขึ้น 

ความผอมเริ่มสร้างปัญหาอีกครั้ง (บวกกับความสูงแค่ 170 ซม. ด้วย) เมื่อเราอยากแต่งตัว เสื้อผ้าแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นของผู้ชายนั้นตอบโจทย์ทั้งเรื่องสไตล์และราคา แต่ไม่ตอบโจทย์เรื่องไซส์ (โดยเฉพาะกางเกง) สิ่งที่พอแก้ไขได้คือข้ามจากการซื้อเสื้อผ้าฝั่งเมนส์แวร์มายังวูแมนส์แวร์ ในชิ้นเบสิกที่ดูเป็นยูนิเซ็กซ์ 

สมัยก่อน Zara สาขาสยามพารากอน ทั้งเสื้อผ้าผู้หญิง ผู้ชาย และเด็ก เป็นห้องที่เชื่อมต่อกัน สิ่งที่ผมทำได้คือเลือกกางเกงฝั่งเสื้อผ้าผู้หญิงและนำไปลองในห้องลองเสื้อผ้าผู้ชาย แต่ปัจจุบันนี้ฝั่งเสื้อผ้าผู้หญิงและผู้ชายไม่ได้เชื่อมกันแล้ว และผู้ชายก็ไม่สามารถลองเสื้อผ้าในห้องลองฝั่งผู้หญิงได้ (ขอบคุณพนักงาน Zara ฝั่งผู้หญิงที่ขนเสื้อผ้าออกไปให้ลองในฝั่งผู้ชาย มา ณ ที่นี้ด้วย) 

  และอย่างที่รู้และเห็นกันในทุกวันนี้ รูปผู้ชายถอดเสื้อโชว์ซิกซ์แพ็กมีให้เห็นเกลื่อนโซเชียลมีเดีย แม้กระทั่งดาราชายของไทยเองที่แต่ก่อนมักมีกฎว่าถ่ายแบบห้ามถอดเสื้อ (กฎนี้มีอยู่จริง ปัจจุบันนี้ก็ยังมีอยู่) ก็ถอดโชว์กันอย่างเป็นล่ำเป็นสันและเป็นแพ็ก แน่นอนว่าเทรนด์ซิกซ์แพ็กนี้นอกจากจะสร้างแรงกระเพื่อมทางด้านเศรษฐกิจของฟิตเนส มันยังสร้างแรงกระเพื่อมทางด้านวัฒนธรรม ภาพตัวแทนความเป็นผู้ชายที่สมบูรณ์แบบแห่งยุคด้วย

  และเราเองรวมถึงใครอีกหลายคน…ก็ไม่กล้าถอดเสื้อถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดียอีกต่อไป ตราบใดที่หุ่นยังไม่ดี

  ในด้านสุขภาพ แน่นอนว่าการมีรูปร่างที่ดีย่อมหมายถึงสุขภาพที่ดีและเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุน ในด้านภาพตัวแทน (ซึ่งอย่าลืมว่าวัฒนธรรมฟิตเนสเพิ่งจะเกิดขึ้นในยุค 80s เริ่มจากทางอเมริกา) ก็คงเหมือนกับที่เขารณรงค์เรื่องความหลากหลายในปัจจุบันนี้ ทั้งด้านสีผิว เชื้อชาติ เพศ และที่สำคัญรูปร่าง ไซส์ศูนย์ไม่ผิด ถ้าเราไม่ได้พยายามไดเอตจนเพื่อให้ผอมกะหร่อง ไซส์ 16 ก็ไม่ผิด และควรมีไซส์เสื้อผ้าให้เลือกใส่และมีที่ทางให้ยืนในพื้นที่ที่หลากหลาย รวมถึงพื้นที่หลักอย่างสื่อในสังคมด้วย และควรเป็นการยืนด้วยความภูมิใจ

  เหมือนเช่นผู้ชายบนปกของเราฉบับนี้ ‘โอ๊ต-ปราโมทย์ ปาทาน’ ที่สามารถพูดได้ว่าเป็นคนดังแห่งปีก็ว่าได้ และคิวงานไม่มีวันว่างเลยยย…เราไม่ได้จับโอ๊ตมานั่งกินแฮมเบอร์เกอร์ในยิมที่ห้อมล้อมไปด้วยนักกล้ามเพื่อจะดูถูกเยาะเย้ยรูปร่างอันตุ้ยนุ้ยน่ารักของเขา แต่เราอยากจะแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจและพอใจในรูปร่าง ในสิ่งที่ตัวเองเป็นและยอมรับมันได้อย่างจริงแท้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้สะท้อนเพียงหน้าปก แต่ยังรวมไปถึงบทสัมภาษณ์และรายละเอียดในชีวิตอื่นๆ ของผู้ชายที่ขึ้นชื่อว่าฮอตที่สุดในปีนี้ 

  ส่วนผม…เดี๋ยวเย็นนี้จะลองเดินไปสวนสาธารณะดู (ถ้าฝนไม่ตก ถ้าไม่กลับดึก ถ้าไม่เหนื่อยเกินไป ถ้าไม่มีนัดกินข้าว ฯลฯ)

สันติชัย อาภรณ์ศรี

บรรณาธิการบริหาร