BEAUTY IS EXPERIMENT – กานดา สายทุ้ม

Written by  
22.02.18 1,794 views

  ในหมู่คนทำนิตยสาร  เราเคยคุยกันว่าไม่ใช่คนทำงานเขียนด้านความงามทุกคนจะแปลงร่างไปเป็นบิวตี้  บล็อกเกอร์หรือบล็อกเกอร์ที่นำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวกับความสวยความงามได้ทั้งหมด  เพราะการเป็นบิวตี้  บล็อกเกอร์ที่ดีและน่าสนใจ  คุณต้องมีมากกว่าความสวย  คุณต้องมีความรู้  มีเรื่องราวความสวยความงามที่อยากบอกเล่า  ขณะเดียวกัน  ก็ต้องมีทักษะในการเชิญชวนให้ผู้ติดตามของคุณมาลองลิ้มชิมข้อมูลใหม่ๆ  ซึ่งไม่ได้นำเสนออาศัยแค่ตัวหนังสืออีกต่อไป  แต่ต้องอาศัยตัวตนทั้งหมดของคุณแสดงมันออกมา  เพราะในโลกออนไลน์  ผู้คนไม่ได้แค่อ่านพวกเขาดูและบางครั้งก็จับตาด้วยซ้ำไป 

  กานดา  สายทุ้ม  เป็นอดีตบรรณาธิการความงามที่ผันตัวมาเป็นบิวตี้  บล็อกเกอร์  และเป็นหนึ่งคนที่หลายคนลงความเห็นว่าเป็นบล็อกเกอร์แล้วรอด  พื้นที่บนโลกออนไลน์ของ GandaGanda ทั้งทางเฟซบุ๊ค  อินสตาแกรม  และยูทูบ  ทำให้คนที่ติดตามเธอเข้าใจว่า  ม็อตโต  หรือคำขวัญประจำตัว #beautyisexperiment ที่แปลตรงๆ  ได้ว่าความสวยคือการทดลองแท้จริงแล้วมีความหมายว่าอะไร

  เมื่อเข้าไปในพื้นที่ของกานดา  เราไม่ได้แค่เห็นสินค้าความงามตัวใหม่ล่าสุดหรือเคล็ดลับการแต่งหน้าเท่านั้น  แต่เราเห็นการใช้ชีวิตและวิถีชีวิตของผู้หญิงผิวแทนสวย  ผมสั้นตรง  ผู้หลงใหลในโยคะและรักที่จะบอกเล่าเรื่องราวความงามผ่านวิธีที่เธอใช้ดูแลผิวหน้า  ผิวกาย  รวมไปถึงสไตล์การแต่งตัวอันเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ไม่ว่าเธอจะเดินเข้าไปยังฉากไหนหรือเฟรมไหนในวิดีโอ  เรา  ในฐานะผู้ติดตามออนไลน์ก็จะรู้ทันทีว่าคนนี้แหละคือคนที่ต้องจับตาดู  และ

  นอกจาก Hamburger จะจับเธอมาเป็นนางแบบ  เรายังชวนเธอมานั่งคุยยาวๆ  เล่าว่าเมื่อเนื้อหาความงามต้องกระโดดจากกระดาษไปลงจอ  อะไรเกิดขึ้นบ้าง  พร้อมกับให้เธอแนะนำ GandaGanda ตัวจริงให้เรารู้จัก


เข้ามาทำงานด้านบิวตี้ได้อย่างไร

  ตั้งแต่จบค่ะ  เรียนเจอาร์ (ภาควิชาวารสารสนเทศ) นิเทศศาสตร์  จุฬาฯ  หน้าไม่ให้เลยใช่ไหมคะ (หัวเราะ) เรียนเพราะโตมากับเรื่องการเขียน  แต่ก่อนคุณพ่อทำงานมติชน  พอเรียนจบ  ปี 2546 ก็เข้าไปทำงานที่นิตยสารสุดสัปดาห์  ทำงานเหมือนเป็นบิวตี้  เอดิเตอร์  ตั้งแต่ตอนยังไม่มีตำแหน่งนั้นเลย  กองบรรณาธิการมีสิบกว่าคน  แต่คนที่ดูแลบิวตี้คือคนเดียว 2 ปักษ์รวมกันต่อเดือนก็รับผิดชอบประมาณ 40 หน้า  ไม่รู้ทำไปได้ยังไง

 

เคยเป็นบรรณาธิการให้นิตยสารเธอกับฉันด้วย

  ค่ะ  ทำของที่บ้าน  จริงๆ  ตอนนั้นจะไปเรียนต่อ  แต่บ..ขาดพอดี  คุณพ่อเห็นเรามีประสบการณ์  เลยบอกว่าไม่ต้องไปเรียนแล้ว  มาทำนี่ (หัวเราะ) พูดตรงๆ  ว่าตอนนั้นที่ทำเพราะต้องทำตอบแทนบุญคุณคุณพ่อ  เธอกับฉันเป็นหนังสือดารา  เราไม่ถนัดหรอก  พอทำไปสักพักก็รู้สึกว่ามันถึงจุดของมัน  เธอกับฉันเคยพีคที่สุดสมัยคือสมัย  พี่พชร์  อานนท์ (พจน์  อานนท์ผู้กำกับภาพยนตร์) เป็นบ.. แล้ว  ถามว่ายังมีลูกค้าไหม  ก็มี  คนอ่านก็ยังอ่าน  เพียงแต่รู้สึกว่าไปต่อยาก  เพราะทีมเธอกับฉันก็ไม่ได้ใหญ่มาก  ทีมเซลล์ก็ไม่ได้แข็งแรง  แล้วเราก็ไม่ได้คิดว่าอยากเปิดหนังสือเล่มอื่นมาช่วยเล่มนี้ด้วย  เลยตัดสินใจปิด  เสียดายนะคะ  แต่ก็คิดว่าตัดสินใจไม่ผิด  มันถึงจุดที่สวยงามแล้ว  มีความสุขแล้ว  และไม่ดันทุรัง

 

ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเปลี่ยนมาทำงานดิจิทัลของตัวเองเต็มตัวคือ บรรณาธิการความงามของนิตยสารมารี แคลร์ทำไมออกมาเสียล่ะคะ
 
มันเป็นจังหวะที่พอดีค่ะ  ไม่ได้คิดว่าจะออกหรือไม่ออก  ไม่ได้รู้สึกว่าเบื่อหรือไม่ชอบหนังสือแล้ว  แต่กานดาเป็นบิวตี้  เอดิเตอร์ที่นั่นมา 4 ปี  เต็มอิ่มแล้ว  ประจวบกับออนไลน์เข้ามาพอดี  แรกๆ  เราทำทั้งหนังสือและออนไลน์ควบกัน  พอได้ลองก็รู้สึกว่าออนไลน์เป็นเรื่องสนุก  เราปรับตัวได้  แต่ก่อนทำหนังสือต้องมีทั้งช่างภาพ  .. ทีมงาน  ทำมาถึงจุดหนึ่ง  รู้สึกว่าเราช็อตคัตได้แล้ว  สามารถคิดแล้วจบงานในตัวได้  เลยคิดว่าออกมาทำเองคงสนุกดี  จะได้พูดอะไรมากขึ้นภายใต้ขอบเขตของความไม่เพ้อเจ้อ (หัวเราะ

 

แค่ไหนคือไม่เพ้อเจ้อ

  ก็ต้องไม่ใช่มั่นใจสุดๆ  เรารู้ว่าไม่ได้มีใครชอบเรา 100 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว GandaGanda เลยพยายามใส่คอนเทนต์กลางๆ  ด้วย  ไม่ใช่แค่เอาตัวเราเสนอให้คนอ่าน  แต่งตัวออกมาถามคนดูว่าสวยมั้ย  แบบนั้นไม่เอา  เสนอเนื้อหาที่เป็น editorial ผสม blogger ดีกว่า

 

ถ้าไม่ต้องสนใจคนอ่าน เพ้อเจ้อได้เต็มที่ อยากนำเสนออะไร 

  นำเสนอสิ่งที่เป็นตัวเองมากกว่านี้  เพราะถ้าดูจริงๆ  อินสตาแกรมของกานดาจะเป็นงานเยอะ  บางคนทำอะไร  อยากโพสต์อะไรก็โพสต์  แต่เราเลือกสร้างคอนเทนต์ให้คนอ่านมากกว่าแค่ตอบสนองให้ตัวเรามีความสุข

งานสิ่งพิมพ์กับออนไลน์ แบบไหนสนุกกว่า

  เราชอบทั้งคู่  แต่ความที่ทำหนังสือหัวนอก  ตอนนั้นเลยมีเงื่อนไขหลายอย่างบังคับให้ต้องคิดในกรอบ  หนังสือเขามีไบเบิลคู่มือ  เราก็ต้องคิดในรูปแบบที่หนังสือเป็น  หนังสือชื่อมารี  แคลร์  ไม่ได้ชื่อกานดา  เพราะฉะนั้นหนังสือเป็นอย่างไรเราก็ต้องพยายามสวมวิญญาณเป็นอย่างนั้น  ถามว่าสนุกไหม  สนุกค่ะ  เราได้ฝึกทำงานกับทีมที่เป็นมืออาชีพมาก  ส่วนออนไลน์เป็นเรื่องของตัวเอง  เราสามารถนำเสนอไลฟ์สไตล์ของเราได้ชัดเจนและเป็นอิสระมากขึ้น  ได้เป็น GandaGanda เลยสนุกไปอีกแบบ  แต่ถ้าต้องตอบจริงๆ  กานดาอินกับสิ่งที่ทำในปัจจุบัน  เพราะทำออนไลน์แล้วได้รู้จักคนอ่านที่แท้จริงของเรา  ตอนทำ editorial เรารู้จักคนอ่านจากการคาดเดา  จากเซอร์เวย์  แต่ตอนนี้เจอคนแปลกหน้าซึ่งให้ฟี้ดแบ็คเราตรงๆ  กลายเป็นว่าเรานำเสนอว่าชอบหรือไม่ชอบทำอะไร  แล้วคอยดูว่าคนชอบสิ่งที่เราทำหรือเปล่า  ถ้าชอบ  เขาก็จะอยากรู้จักเราไปเรื่อยๆ  แต่ถ้าไม่  ก็หยุดตรงนั้น  เลยต้องเรียนรู้ที่จะพัฒนางานไปควบคู่กับการเก็บคาแรคเตอร์ของตัวเราไว้ 

  เวลาคนบอกว่าบ..มาทำงานออนไลน์แล้วจะมีความทุกข์  กานดาว่าระดับหนึ่ง  เพราะมันต้องปรับตัว  เราไม่ได้รู้สึกว่าต้องปรับตัวเยอะ  แต่รู้สึกกับเรื่องเวลามาก  เพราะแทบไม่มีวันหยุดเลย  หยุดปุ๊บจะกระทบคนอ่านทันที

 

สื่อที่ใช้เปลี่ยนไป แต่นำเสนอเรื่องความงามเหมือนเดิม การทำงานแตกต่างจากเดิมไปขนาดไหน

  วิธีนำเสนอไม่ต่างมากนะคะ  เพราะสุดท้ายเราก็ใช้วิธีการทำงานแบบ editorial มาทำออนไลน์อยู่ดี  เราคิดว่าจะนำเสนออะไรเพื่อคนอ่าน  มีขั้นตอนในการทำงานเหมือนตอนทำหนังสือเลย  คือคิดคอนเซ็ปต์  พาดหัว  เนื้อเรื่อง  มีสไตลิสต์มาดูแลสไตล์  ภาพเองก็ใช้เทคนิคเหมือนเดิม  เพียงแต่ง่ายขึ้น  คือจากที่เคยจัดไฟเยอะก็เปลี่ยนเป็นจัดไฟน้อยลง  อาจจะใช้แสงธรรมชาติบ้าง  แต่ทั้งหมดก็ยังคงต้องมีมุมมองของมัน 

  ที่ต่างคงเป็นความเข้มข้นของข้อมูลที่ต้องหา  งานออนไลน์เข้มข้นน้อยลง  เขียนสั้นลง  เพราะเรามีเงื่อนไขที่ต้องแข่งกับเวลา  ซึ่งบางทีก็ทำให้เศร้าใจเหมือนกัน  อย่าง  เวลาไปงานอีเวนต์  แต่ก่อนเไปแล้วต้องฟังรายละเอียดในงาน  ฟังพิธีกรพูด  ต้องอ่าน press release ตอนนี้คนไปรุมถ่ายรูปอย่างเดียว  และก็ถ่ายมุมเดิมๆ  ลงคอนเทนต์เดิมๆ  เพราะเหมือนเชื่อกันว่าถ้าคนอ่านเห็นของคนหนึ่งแล้วก็จะไม่อ่านของอีกคนอีก  แต่กานดาว่าไม่  คิดว่าถ้ารออีกสักวันแล้วมีมุมที่น่าสนใจ  ก็คิดว่าคนน่าจะอ่านเหมือนกัน 

 

เงื่อนไขที่ต้องเขียนสั้น มีเวลาสร้างสรรค์งานน้อย แปลว่าคุณภาพงานด้อยลงหรือเปล่า

  บิวตี้ยังเป็นเรื่องของข้อมูลค่ะ  แต่พอมาออนไลน์  ก็ต้องคิดถึงความยาวของสิ่งที่จะพูดด้วย  ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นที่พฤติกรรมของคนไทยอยู่แล้ว  เราไม่ได้อ่านหนังสือเหมือนฝรั่ง  เวลาอ่านเราจะไม่ได้พลิกหน้าไปเรื่อยๆ  ไม่มีการอ่านฆ่าเวลา  เรามักจะเลือกอ่านสิ่งที่เราต้องการเลยทันที  มาออนไลน์  เขาบอกว่างานควรมีความยาวไม่ควรเกิน 4 บรรทัด  เลยกลายเป็นความท้าทายว่าทำอย่างไรให้เอาอยู่ภายในพื้นที่เท่านั้น  ตอนนี้เลยเป็นช่วงที่ยังต้องเรียนรู้  เพราะยังติดการเขียนยาวแบบสิ่งพิมพ์อยู่  ส่วนเรื่องภาพ  คนอาจจะบอกว่าง่ายๆ  แต่นั่นคือสิ่งที่กานดาไม่ปล่อยเลย  เรื่องนี้ซีเรียสมาก  ถ้ารูปไม่ถูกใจจริงๆ  จะไม่ใช้

 

นอกจากเรื่องความยาว เนื้อหาแบบไหนอีกที่คนไทยไม่ชอบ

  อย่างที่บอกว่าสิ่งหนึ่งที่ดีมากเกี่ยวกับออนไลน์คือเรารู้ฟี้ดแบ็คจากคนอ่าน  รู้ว่าคนอ่านประเภทไหนชอบแบบไหน  คนจากจังหวัดหัวเมืองกับจังหวัดเล็กๆ  มีพฤติกรรมต่างกันอย่างไรแค่จากการกดเข้าไปดูโปรไฟล์ของคนที่เข้ามาดูเรา  ดูว่าเขาสนใจอะไรบ้าง  ที่สังเกตเห็นมาหลายทีแล้วก็คือ  ถ้าลงรูปฝรั่งคนจะไม่ค่อยกดไลค์  แปลกมากเลย  ลองไปดูตามแบรนด์ต่างๆ  ก็ได้นะคะ  ถ้าเป็นรูปคนไทยที่ดูสวย  ดูจริง  คนไลค์เยอะกว่ารูปฝรั่งอีก  รู้สึกว่าคนไทยจะกลับมาที่สิ่งที่ใกล้ตัวมากขึ้น  ส่วนรูปที่คนไลค์น้อยก็คือรูปที่ดูเป็นโฆษณามากๆ  หรือเอาสินค้ามาลง  เอาฝรั่งมาลงให้ดู  เป็นการอัพเดทอย่างเดียวโดยไม่มีลิงค์ให้กดเข้าไปดูต่อ  เขาก็จะไม่อิน  แล้วก็เรื่องที่ซีเรียสค่ะ  คนไม่ค่อยชอบ (หัวเราะ)

รูปกับคลิปของ GandaGanda ดูเพลินมาก แตกต่างด้วย มีคอนเส็ปต์ยังไง

  อยากทำอะไรก็ทำค่ะ (หัวเราะ) แต่ความที่เราได้โปรดักต์มาเยอะ  มันเลยสนุก  เหมือนได้เล่นของเล่น  เหมือนแฮชแท็กเรา Beauty is Experiment คือการทดลอง  ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ  บางทีไม่ต้องคิดเลยด้วยซ้ำไป  แต่บางครั้งก็พยายามทำให้มันโดดเด่นขึ้นมา  ส่วนใหญ่ที่เห็นในคลิปเป็นชีวิตประจำวันของกานดาจริงๆ  ไลฟ์สไตล์เราเป็นแบบนั้น  เช่น  ได้ไปเจอคนที่ทรงผมเจ๋งมากก็เอามาลง  เทรนด์สีชมพูที่หายไปแล้วตอนนี้กลับมาก็เอามาบอก  หรืออย่างสุดสัปดาห์นี้รู้สึกว่าอยากหาน้ำหอมที่กลิ่นสะอาดๆ  เราก็ทำคอนเทนต์แบบนั้น  ทำในสิ่งที่ชอบทุกวัน

 

สำหรับคนอ่าน คนดู มีข้อมูลอะไรที่หายไปบ้างจากการที่เปลี่ยนมาเป็นออนไลน์

  ถ้าวัดจากตอนทำหนังสือหัวนอก  ความเป็นอินเตอร์ของมันหัวนอกทำให้เราเข้าถึงคลังข้อมูลของนิตยสาร  มารี  แคลร์จากทั่วโลกได้  เหมือนเราได้เข้าห้องสมุดทุกเดือน  ได้เห็นรูปที่สวยมากและเนื้อหาที่มีความลึกมาก  ซึ่งสำหรับคนอ่าน  มันจะกลายมาเป็นมี tips และ tricks ใหม่ๆ  มีข้อมูล  มีส่วนผสมของสินค้าความงาม  ได้เห็นการแต่งหน้าจากช่างแต่งหน้าของแบรนด์ต่างๆ  เพราะเมืองนอกเขาจะได้สัมภาษณ์ head director ของแบรนด์  หรือคนที่ได้ทำงานกับดาราดังๆ  เพราะฉะนั้นก็จะได้ความรู้มากขึ้นมากกว่าที่อ่านใน facebook ทั่วไป

 

เมื่อมาเป็นบล็อกเกอร์ GandaGanda ต้องปรับตัวให้เป็นเหมือนบล็อกเกอร์ความงามคนอื่นๆ หรือเปล่า

  ก็ต้องไวขึ้น  อะไรที่ออกใหม่ก็ต้องมีนำเสนอ  แต่เราจะใส่สิ่งที่เราคิดเพิ่มเข้าไป  ใส่เรื่องราวเข้าไปมากกว่าที่จะบอกแค่ว่าออกใหม่แล้วจ้า 500 บาทกานดารู้สึกว่ายังไงมันก็ต้องให้ข้อมูล  ส่วนเวลาทำ  คิดว่าคงเหมือนคนเคยทำงานหนังสือที่มาทำออนไลน์ของตัวเอง  นั่นคืือเรายังคงมีความเป็นเอดิเตอร์อยู่  เวลามีสินค้าเข้ามาจะ tie in ลงในพื้นที่ของเรา  เราจะมองมันเป็นโจทย์  มองว่าเป็น advertorial แล้วนำเสนอโดยที่เราคำนึงถึงความเป็นแบรนด์  เช่น  ทำวิดีโอ Jo Malone ก็ต้องเห็น Jo Malone ผ่านมุมมองเรา  จะเป็นการรีวิวผสมผสานกับการสร้าง awareness ให้คนดู  ยังไม่เคยตั้งกล้องแล้วบอกว่าอันนี้ดีจังเฉยๆ  มันอาจจะเป็นวิธีที่เวิร์ค  สำหรับบางคน  แต่เพราะเรารู้ว่าแบรนด์ก็อยากเป็นที่จดจำ  เราเลยทำหน้าที่นั้น

 

ภาษาที่ใช้ต่างกันมากไหม

  เยอะมาก  ตอนเขียนหนังสือก็จะต้องมีความเรียบร้อย  สุภาพ  ตอนนี้จะเป็นภาษาพูดมากขึ้น  กานดายังคงพยายามหลีกเลี่ยงภาษาที่มันวัยรุ่นเกินไป  เช่น  อย่างมากก็อะส่วนอร๊างนี่ไม่เอา  คำว่าลิปจิ้มจุ่มจะไม่ใช้เลย (หัวเราะ)

 

ทุกวันนี้ยังอ่านหนังสือไหมคะ

  อ่านคอนเทนต์ออนไลน์เรียกว่าอ่านหนังสือไหม  ตอนนี้ซื้อหนังสือน้อยลง  ซื้อแพคเกจอ่านออนไลน์แทน  มันถูก  เดือนหนึ่งอ่านได้ตั้งหลายเล่ม

 

เสน่ห์ที่ต่างกันของสองสื่อคืออะไร

  กับหนังสือ  เราเห็นความสวยงามของการเรียบเรียงประโยคกับการสัมผัสกระดาษ  ได้จับกระดาษก็เหมือนได้ฟังเพลงเก่าถ้าเทียบกับออนไลน์  ก็เหมือนกล้องฟิล์มกับกล้องดิจิตอล  เป็นไปตามยุคสมัย  ทุกอย่างมันมีเสน่ห์ของมัน  ตอนที่เราอ่านและทำหนังสือกันเยอะๆ  ก็มีคนบ่นว่าใช้ต้นไม้เยอะ  พอมาทำดิจิทัลก็มีคนบ่นว่าทำไมไม่อ่านหนังสือ  กานดามองไว้อย่ายึดติดกับมันมากดีกว่า  ขอให้อ่านเถอะไม่ว่าจะแพลตฟอร์มไหน

 

ทำงานกับความงามมานาน เห็นเทรนด์ความงามของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

  ไม่ได้รู้สึกว่ามันเปลี่ยน  เดี๋ยวคิ้วบางเดี๋ยวคิ้วหนา  เดี๋ยวชอบแบบตะวันตกเดี๋ยวชอบแบบตะวันออก  สักพักปากแดงอีกพักนึงปากนู้ด  มันวนลูปเป็นอย่างนี้  แค่เทคนิคที่ใช้มันต่างไป  แต่สุดท้ายแล้วตาก็อยู่ที่เดิม  ปากก็อยู่ที่เดิมนั่นแหละ  คนชอบถามว่าเทรนด์ตอนนี้เป็นอย่างไร  กานดาว่าคำถามที่น่าถามจริงๆ  คือเราจะเอามันไปใช้อย่างไรมากกว่า

 

คิดว่าตัวเองมองความสวยเหมือนหรือต่างกับคนอื่นไหม

  คิดว่ามีมาตรฐานคล้ายกับคนอื่น  สมมติมีคนเดินมา 5 คน  คนส่วนใหญ่ก็คงรู้สึกคล้ายกันว่าคนนี้สวยมาก  คนนั้นสวยกลาง  แต่พอสักพัก  กานดาจะดูที่การพูด  การพูดเป็นตัวที่ทำให้รู้สึกว่าคนนั้นน่าสนใจแค่ไหน  น่าสนใจพอจะอยากคุยต่อด้วยหรือเปล่า  อย่างผู้ชายเดินมา 10 คน  เชื่อว่า 90% ต้องเห็นเหมือนกันว่าคนไหนเด่น  แต่ถ้าพอเริ่มพูดแล้วคนที่เด่นพูดแต่เรื่องตัวเอง  หรือพูดแล้วทำให้เรารู้สึกว่าอะไรวะ  ความหล่อก็จะค่อยๆ  ลดลง  คนที่หน้าตาธรรมดาแต่พอพูดจาแล้วดูมีอะไร  ครั้งหน้าเราจะอยากเจอเขาอีก  มันสร้างความประทับใจที่ยาวนานกว่าการเจอกันครั้งแรก  คือหล่อสวยน่ะใช่  แต่ถ้าคบไปสักพักนิสัยเริ่มแปลก  ก็ No. Thank you.  ไม่ได้เป็นคนเห่อหน้าตาค่ะ

 

เมื่อมีวิธีมองคนแบบนั้น แต่ปกติแล้วบล็อกเกอร์ความงามกลับต้องนำเสนอเรื่องราวที่ดูเหมือนฉาบฉวย ความคิดในหัวเคยตีกันบ้างไหมคะ

  ไม่ตีกันนะคะ  มันยิ่งทำให้รู้สึกว่าทำไมเราไม่นำเสนอผู้หญิงหน้าตาธรรมดาให้ดูน่าสนใจ  ผู้หญิงสวยมากบางคนอาจจะผมบาง  แต่ผู้หญิงคนที่สวยปานกลางอาจจะผมดกสวย  บางคนตัวเล็กมาก  จะทำยังไงให้เค้าสวยจนคนที่สูงต้องหันลงมามอง  ต้องหาเสน่ห์ของตัวเองให้เจอ  ถ้า enhance เขาขึ้นมาจากข้อที่เขามีจริงๆ  ก็จะไม่เป็นการหลอกว่าเขาสวยจากข้างใน  แต่เขาเป็นคนที่มีเสน่ห์น่าดึงดูดจริงๆ  ด้วยรูปลักษณ์ภายนอก  กานดาเชื่อว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบ  แต่ทุกคนต้องมีอะไรดีสักอย่าง  ก็ทำเรื่องนั้นให้เด่นออกมา

 

มองเห็นความสวยความงามในจุดเล็กๆ บนตัวคนอื่นมานานแล้วหรือยัง

  แต่ก่อนมองคนที่หน้าตาค่ะ  เห็นคนหน้าตาดีก็กรี๊ด  อย่างเห็นลีโอนาโด  ดิคาปริโอในหนัง (หัวเราะ) แต่พอเราโตขึ้น  เราก็รู้ว่ามันไม่เหมือนในละคร  เอาเข้าจริงมีคนที่หน้าตาธรรมดาแต่มีเสน่ห์กว่าคนหน้าตาดีๆ  ตั้งเยอะ  เป็นการยืนยันกับเราว่าเสน่ห์มันไม่ได้มาจากแค่รูปลักษณ์ภายนอก  เสน่ห์นี่นั่งอยู่ข้างๆ  เฉยๆ  ยังรู้สึกได้เลย


สิ่งที่เห็น ที่รู้สึกเกี่ยวกับความสวยและเสน่ห์ ส่งผลกับเนื้อหาบิวตี้ที่นำเสนอไหม

  มากค่ะ  กานดาว่านั่นน่าจะเป็นส่วนที่ทำให้เรากับบางคนมองเห็นอะไรต่างกัน  เราจะมองว่าทำยังไงเขาถึงจะสวยขึ้น  เห็นว่าสำหรับคนนี้ใช้อะไรที่เป็นกลิตเตอร์ไม่รอดแน่ๆ  เป็นการมองแบบคิดแทนเขา  ไม่ใช่ว่าถ้ากานดาชอบ smoky eyes แล้วจะไปบอกให้ทุกคนชอบ  ในฐานะคนทำคอนเทนต์  ต้องมองในสิ่งที่เขาเป็นจริงๆ  และนำเสนอเนื้อหาที่ตรงกับความต้องการ  ถ้ามีโปรดักต์ก็ต้องทำให้รู้สึกว่าเขาน่าจะอยากถือโปรดักต์นั้นและใช้ต่อไปเรื่อยๆ  ดีก็บอกว่าดี  กานดาจะไม่โกหก

 

นอกจากเรื่องบิวตี้ อีกหนึ่งอย่างที่เห็นชัดเจนคือสไตล์การแต่งตัวแบบวินเทจ ที่บางทีทำให้เราหลงมองการแต่งตัวมากกว่าดูเรื่องบิวตี้เสียอีก

  ไม่แน่ใจว่าคนมองยังไงนะคะแต่กานดามองว่าบิวตี้เป็นเรื่องที่ต้องแมทต์กับลุคทั้งหมด  กานดาชอบแต่งหน้ามาตั้งแต่เด็ก  ยังไม่เข้ามหาวิทยาลัยก็แต่งหน้าแล้ว  แล้วพอมาถึงจุดหนึ่ง  ก็เบื่อ  ขี้เกียจล้างเครื่องสำอางมาก  ก็เริ่มหน้าคลีน  เริ่มมาดูแลอย่างอื่นมากกว่า  เช่น  ผม  เสื้อผ้า  ใช้สกินแคร์  ถ้าไม่ใช่งานหรืออะไรจริงๆ  จะไม่แต่ง  ในบล็อกเลยเป็นการนำเสนอสไลฟ์สไตล์บวกกับบิวตี้มากกว่า  เสื้อผ้าหน้าผมมาต้องด้วยกัน  ส่วนเรื่องวินเทจ  อาจเป็นเพราะคนอื่นไม่ค่อยแต่งหรือเปล่า  ไม่แน่ใจ  จริงๆ  เรื่องแต่งตัวนี่ส่วนหนึ่งต้องให้เครดิตพี่หรั่ง (สุรศักดิ์  อิทธิฤทธิ์สามี) เราเป็นเหมือนบาร์บี้ให้เขาช่วยแต่งตัว  แรกๆ  ก็แต่งเองแหละ  แต่พอสักพักเขาแต่งให้  ก็สบายดี  ไม่ต้องคิดเยอะ  เขาเลือกซื้อของให้เลย  แต่เราจ่ายนะ (หัวเราะ) เพราะชอบสไตล์กันถึงยอมให้แต่งให้  ถ้าไม่ชอบก็คงไม่ยอมค่ะ

 

การแต่งตัวแบบไหนที่ไม่ใช่ GandaGanda ที่สุด

  ไม่ค่อยใส่อะไรที่ฟรุ้งฟริ้ง  หวานๆ  จริงๆ  อยากใส่เหมือนกันนะ  แต่ใส่แล้วคือไม่ใช่  ไม่ได้  ก็อย่างที่บอกว่าเราไม่ได้สามารถใส่ทุกอย่างที่ชอบได้  เพราะบางทีมันอาจจะไม่เหมาะกับเรา  สำหรับกานดา  ถ้าจะหวานก็คงเป็นสีเฉดหวานที่ไม่ได้หวานมาก  ไม่หวานทั้งตัว  ถ้าจะลูกไม้ก็อาจจะต้องเป็นลูกไม้ที่มีทรงเรขาคณิตหน่อย  ไม่ใช่ลูกไม้ฟูๆ

 

ถ้าไม่ได้ทำงานอยู่ในตำแหน่งที่ที่ได้เครื่องสำอางและสกินแคร์ฟรีแบบนี้ อยากรู้ว่าถ้าต้องซื้อ จะซื้อเยอะขนาดที่มีตอนนี้ไหม

  ไม่ค่ะ  ไม่ไหวแน่นอน (หัวเราะ) แต่ก็จะซื้อนะ  เพราะตอนนี้ที่ทำงานจริงๆ  ก็ใช้ได้แค่จำนวนเดียว  ที่เหลือก็จะเรียกเพื่อนพี่น้องมาเอาไปเลยจ้ะ  เพราะว่ามันใช้ไม่หมด  หน้าก็มีอยู่หน้าเดียว  เครื่องสำอาง  สกินแคร์  ก็เลือกที่ชอบ  ที่ใช้แล้วเหมาะ  นอกนั้นพอลองปุ๊บรีวิวปั๊บก็เอาออกเลย

 

แปลกใจหรือเปล่าที่ผู้หญิงหนึ่งคนมีลิปสติกสีแดงประมาณ 8 เฉด

  ไม่แปลกใจ  แต่กานดาไม่เป็นนะ  เข้าใจได้เพราะผู้หญิงกับลิปสติกก็เหมือนเด็กน้อยกับของเล่น  เท่าไหร่ก็ไม่พอ  สินค้าบิวตี้เป็นสินค้าที่มีพัฒนาการมาเรื่อยๆ  เฉพาะลิปสติก  ตอนนี้ก็มีให้เลืออกไม่รู้ตั้งกี่แบบ liquid, matte, semi-matte, velvet, satin  มาสคาร่าแบบวอลลุ่มยังมีหัวแปรง 10 แบบให้เลือก  คือมันออกมาเยอะมาก  เป็นเทรนด์  ตรงนี้เองที่มันตอบสนองความต้องการของผู้หญิง  ผู้หญิงสนุกกับมัน  ก็ซื้อ  ยิ่งมีสื่อ  มีการนำเสนอข้อมูลออนไลน์ให้คนแต่งหน้าตามก็ยิ่งทำให้ทุกอย่างมันทวีคูณ

 

เราจะประคองตัวเองให้รอดจากสภาวะอยากได้และจะซื้อลิปสติกสีแดงแท่งที่ 9, 10, 11, 12 ได้อย่างไร

  จิตต้องแข็งค่ะ (หัวเราะ) แต่ก่อนก็เคยเป็น  อันนั้นอยากได้  อันนี้ก็สนใจ  ซื้อมา 10 แท่ง  ใช้ได้ 4 ใช้ไม่ได้ 6 กานดาว่ามันเป็นเพราะเราไม่ได้โฟกัสว่าเราเหมาะหรือไม่เหมาะกับอะไร  ถ้ารู้  เช่น  ลิปสีแดงเฉดนี้ยังไงก็ไม่เหมาะ  แต่งแล้วแก่มาก  เราก็จะค่อยๆ  ตัดออกไปได้

 

จะรู้ได้ยังไงว่าอะไรเหมาะกับเราจริงๆ 

 

ฟังผู้เชี่ยวชาญ  แล้วลองค่ะ  ลองเรื่อยๆ  ถ้าไม่ลองก็จะไม่รู้  แล้วก็ต้องฟังคนรอบข้างบ้าง  เพราะบางครั้งเราอาจจะเข้าข้างตัวเอง (หัวเราะ) ซึ่งเป็นกันบ่อย  ต้องฟังเพื่อนฟังตัวเองแล้วก็ลองไปเรื่อยๆ

 

ถ้ามีเพื่อนไม่ดี

  อันนั้นเป็นเรื่องของดวงแล้วค่ะ (หัวเราะ) บอกไม่ได้หรอกค่ะว่าจะเลือกได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ในสิ่งที่ตัวเองชอบ  แต่มันต้องมีสักอย่างสิที่เราจะรู้ว่ามันไม่ใช่

 

อยู่กับความสวยความงามมาตลอดแบบนี้ จะรับได้ไหมไหมถ้าวันหนึ่งตัวเองแก่

  ไม่โอเคก็ต้องโอเค  คงไม่มีใครชอบแก่  แต่จะแก่แบบไหน  จะเริ่มเปลี่ยนจากห่วงสวย  มาเป็นห่วงสุขภาพไหม  ยอมรับสภาพความเป็นจริงให้ได้

 

ในโลกของบิวตี้ มีวิธีทำให้ไม่แก่มากมาย คิดว่าจะไปสุดได้แค่ไหนกับการทำให้ตัวเองดูแก่น้อยที่สุด

  พยายามทําให้ตัวเองไม่โทรมก็พอ  ศัลยกรรมตอนนี้ยังไม่คิด  แต่ก็ไม่แน่ใจว่าเวลาแก่จะแก่แค่ไหน  แต่คิดว่าน่าจะรับได้นะ  เพราะถ้ารับไม่ได้ก็จะกลายเป็นคนป่วยไง  กลายเป็นคนที่ไม่ยอมรับความจริง 

  แก่ก็ได้นะ  ขอแค่อย่ายับมากก็แล้วกัน (หัวเราะ)